สังเคราะห์และถอดบทเรียนจากงานวิจัยเรื่อง “ออร์นิธิสเชียน ไดโนเสาร์กินพืชสะโพกนกในประเทศไทย”

ชื่อทุนอุดหนุน : ทุนอุดหนุนการวิจัย ประเภททุนส่งเสริมการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ
(Fast Track) งบประมาณ พ.ศ. 2566
ผู้เรียบเรียง: ผศ.ดร. อุทุมพร ดีศรี ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ออร์นิธิสเชียน (Ornithischian) เป็นกลุ่มของไดโนเสาร์กินพืชที่เริ่มปรากฏตัวบนโลกตั้งแต่ช่วงยุคจูแรสซิกตอนต้นถึงครีเทเชียสตอนปลาย (200–66 ล้านปีก่อน) ลักษณะที่โดดเด่นของไดโนเสาร์กลุ่มนี้คือ มีกระดูกเชิงกรานที่คล้ายกับนก โดยกระดูกหัวหน่าว (pubis) วางตัวขนานกับกระดูกก้นกบ (ischium) ต่างกับไดโนเสาร์กลุ่มซอริสเชียน (saurischian) ที่กระดูกทั้งสองชิ้นจะทำมุมต่อกัน ไดโนเสาร์กลุ่มออร์นิธิสเชียนสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ 1. ไธรีโอโฟร่า (Thyreophora) หรือกลุ่มไดโนเสาร์หุ้มเกราะ เช่น สเตโกซอรัส (Stegosaurus) แองไคโลซอรัส (Ankylosaurus) 2. มาจิโนเซฟาเลีย (Marginocephalia) เป็นกลุ่มไดโนเสาร์ที่มีแผงกระดูกบนหัว เช่น ไทรเซราทอปส์ (Triceratops) แพคิเซฟาโลซอรัส (Pachycephalosaurus) และ 3. ออร์นิโธพอด (Ornithopod) กลุ่มไดโนเสาร์กินพืชที่วิ่งได้ด้วย 2 ขาหลัง เช่น อิกัวโนดอน (Iguanodon) พาราซอโรโลฟัส (Parasaurolophus) เป็นต้น ไดโนเสาร์ออร์นิธิสเชียนถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มของไดโนเสาร์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด เนื่องจากพวกมันแพร่กระจายออกไปทั่วโลกตลอดมหายุคมีโซโซอิก จากหลักฐานการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์กลุ่มนี้ที่สามารถพบได้ทั้งในทวีปแถบขั้วโลกบริเวณเส้นศูนย์สูตร รวมไปถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

ล่าสุดคณะวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ร่วมกับศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนักวิจัยจากกรมทรัพยากรธรณี ได้ศึกษาวิจัยและรวบรวมข้อมูลซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์กลุ่มออร์นิธิสเชียนทั้งหมดที่พบในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบไปด้วยซากดึกดำบรรพ์ที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วและซากดึกดำบรรพ์ที่มีรายงานการค้นพบและยังไม่รับการตีพิมพ์ โดยซากดึกดำบรรพ์ส่วนใหญ่นั้นถูกค้นพบจากกลุ่มหินโคราช (Khorat Group) ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งกลุ่มหินโคราชเกิดการสะสมตัวในช่วงจูแรสซิกตอนปลายถึงครีเทเชียสตอนต้น หรือประมาณ 150–115 ล้านปีก่อน และสามารถแบ่งย่อยออกเป็น 5 หมวดหินในกลุ่มหินโคราช ได้แก่ หมวดหินภูกระดึง (Phu Kradung Formation) หมวดหินพระวิหาร (Phra Wihan Formation) หมวดหินเสาขัว (Sao Khua Formation) หมวดหินภูพาน (Phu Phan Formation) และหมวดหินโคกกรวด (Khok Kruat Formation)

จากการตรวจสอบพบว่าซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์กลุ่มออร์นิธิสเชียนที่เก่าที่สุดในประเทศไทยถูกค้นพบในหมวดหินภูกระดึงตอนล่าง (lower Phu Kradung Formation) ยุคจูแรสซิกตอนปลาย (ช่วงอายุทิโธเนียน? ประมาณ 150 ล้านปีก่อน) ซึ่งประกอบไปด้วยไดโนเสาร์กลุ่มสเตโกซอร์ (Stegosaur) ที่พบในบริเวณแหล่งขุดค้นบ้านโคกสนาม จังหวัดกาฬสินธุ์ อย่างไรก็ตามซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์สเตโกซอริดที่พบนั้นมีเพียงแค่กระดูกสันหลังชิ้นเดียวและมีสภาพไม่ค่อยสมบูรณ์ ทำให้การระบุข้อมูลด้านอนุกรมวิธานระดับสกุลหรือสปีชีส์นั้นเป็นไปได้ยาก ส่วนไดโนเสาร์ออร์นิธิสเชียนอีกกลุ่มที่พบในหมวดหินนี้คือ ไดโนเสาร์นีออร์นิธิสเชียนเริ่มแรก (basal neornithischian) หรือไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็กที่มีลักษณะคล้ายกับฮิปซิโลโฟดอน (Hypsilophodon) และนาโนซอรัส (Nanosaurus) ทั้งสองกลุ่มเป็นซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ที่ถูกค้นพบเป็นจำนวนมากในหมวดหินภูกระดึงตอนล่างและหมวดหินภูกระดึงตอนบน (upper Phu Kradung Formation) ซึ่งคาดว่ามีอายุอยู่ในยุคจูแรสซิกตอนปลายถึงครีเทเชียสตอนต้น (ช่วงอายุทิโธเนียนถึงเบอร์เรียเชียน? ประมาณ 150-145 ล้านปีก่อน)  อาทิเช่น แหล่งขุดค้นภูน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์ และแหล่งขุดค้นดานหลวง จังหวัดมุกดาหาร ชิ้นส่วนของซากดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบ ประกอบด้วยกระดูกรยางค์แขนและขา ขากรรไกรล่าง และโครงกระดูกเกือบทั้งตัว โดยการศึกษาเบื้องต้นพบว่าหนึ่งในนีออร์นิธิสเชียนที่พบในแหล่งขุดค้นภูน้อยอาจเป็นไดโนเสาร์ชนิดและสกุลใหม่ของโลก

หมวดหินพระวิหาร ซึ่งเกิดการสะสมตัวในช่วงยุคครีเทเชียสตอนต้น ยังไม่มีรายงานการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ประเภทกระดูกของไดโนเสาร์เลย แต่มีการค้นพบรอยตีนของไดโนเสาร์เป็นจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในรอยตีนที่ค้นพบนั้นมีรอยตีนของไดโนเสาร์กลุ่มออร์นิธิสเชียนจากบริเวณหินลาดป่าชาด อุทยานแห่งชาติภูเวียง จังหวัดขอนแก่น โดยถูกตั้งชื่อให้เป็นชนิดพันธุ์ร่องรอย (ichnospecies) นีโออะโนโมปัส (Neoanomoepus) ส่วนหมวดหินเสาขัวและหมวดหินภูพานนั้น ยังไม่มีรายงานการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ออร์นิธิสเชียน แม้ว่าหมวดหินเสาขัวจะเป็นหมวดหินที่มีความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ของไดโนเสาร์มากที่สุดในกลุ่มหินโคราชก็ตาม

หมวดหินโคกกรวดถือได้ว่าเป็นหมวดหินที่มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ออร์นิธิสเชียนมากที่สุดในกลุ่มหินโคราช ซึ่งลักษณะตะกอนของหมวดหินโคกกรวดเกิดจากการสะสมตัวในช่วงปลายของยุคครีเทเชียสตอนต้น (ช่วงอายุแอปเทียนถึงแอลเบียน ประมาณ 115 ล้านปีก่อน) โดยซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ออร์นิธิสเชียนที่พบกระจายหลากหลายพื้นที่บริเวณราบสูงโคราช ได้แก่ ไดโนเสาร์ออร์นิธิสเชียนกลุ่มเซอราทอปเซียนแรกเริ่ม (basal ceratopsian) เช่น ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ (Psittacosaurus sattayaraki) จากจังหวัดชัยภูมิ พบเป็นชิ้นส่วนกรามล่าง และกระดูกต้นขาของซิตตะโกซอรัส จากจังหวัดขอนแก่น ส่วนไดโนเสาร์ออร์นิธิสเชียนอีกกลุ่มที่พบคือไดโนเสาร์กลุ่มอิกัวโนดอนต์ (Iguanodontian) ซึ่งเป็นออร์นิธิสเชียนที่พบซากดึกดำบรรพ์มากที่สุดในกลุ่มหินโคราช ซากดึกดำบรรพ์ที่พบส่วนใหญ่มาจากบริเวณต่าง ๆ ในจังหวัดนครราชสีมา ประกอบไปด้วยอิกัวโนดอนต์ 3 ชนิด ได้แก่ ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ (Ratchasimasaurus suranarae) สยามโมดอน นิ่มงามมิ (Siamodon nimngami) และสิรินธรน่า โคราชเอนซิส (Sirindhorna khoratensis) และยังมีรายงานการค้นพบซากดึกดำบรรพ์อิกัวโนดอนต์จากแหล่งขุดค้นโคกผาส้วม จังหวัดอุบลราชธานี

นอกจากประเทศไทยแล้ว ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ออร์นิธิสเชียนในประเทศอื่นอีกด้วย เช่น มีรายงานการค้นพบไดโนเสาร์กลุ่มอิกัวโนดอนต์ และซิตตะโกซอริดจากหมวดหิน Grès Supérieurs ในแขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเป็นหมวดหินที่เกิดสะสมตัวพร้อมกับหมวดหินโคกกรวดของประเทศไทย ในประเทศมาเลเซียมีการค้นพบฟันของไดโนเสาร์กลุ่มอิกัวโนดอนต์และออร์นิธิสเชียนที่คาดว่าเป็นไดโนเสาร์กลุ่มแองไคโลซอร์ (Ankylosaur) จากกลุ่มหินเทมเบลิ่ง (Tembeling Group) และกลุ่มหินกาเกา (Gagau Group) โดยความหลากชนิดของไดโนเสาร์ออร์นิธิสเชียนที่พบในแหล่งต่าง ๆ ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีความคล้ายคลึงกับชนิดที่พบบริเวณทางตอนใต้ของประเทศจีน อย่าง ไดโนเสาร์กลุ่มอิกัวโนดอนต์ชนิด นาไป่ซอรัส กวางซีเอนซิส (Napaisaurus guangxiensis) และไดโนเสาร์กลุ่มซิตตะโกซอริด จากลักษณะการค้นพบที่คล้ายคลึงกันนี้ สามารถบ่งบอกถึงการกระจายตัวเชิงชีวภูมิศาสตร์บรรพกาลของไดโนเสาร์กลุ่มออร์นิธิสเชียนในทวีปเอชียระหว่างยุคจูแรสซิกถึงครีเทเชียส

เอกสารอ้างอิง

กรมทรัพยากรธรณี. (2550), ธรณีวิทยาประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดลอม.

Buffetaut, E, & Suteethorn, V. (1992). A New Species of the Ornithischian Dinosaur Psittacosaurus from the Early Cretaceous of Thailand. In Palaeontology (Vol. 35, pp. 801–812).

Buffetaut, Eric, & Suteethorn, V. (2011). A new iguanodontian dinosaur from the Khok Kruat Formation (Early Cretaceous, Aptian) of northeastern Thailand. Annales de Paleontologie, 97, 51–62.

Chanthasit, P., Suteethorn, S., Manitkoon, S., Nonsrirach, T., & Suteethorn, V. (2019). Biodiversity of the Late Jurassic/Early Cretaceous Phu Noi, Phu Kradung Formation, Kalasin, Thailand. Advancing Paleontological Research and Specimen Conservation in Southeast Asia, The International Symposium and Workshop, 14–16.

Manitkoon, S., Deesri, U., Lauprasert, K., Warapeang, P., Nonsrirach, T., Nilpanapan, A., Wongko, K., & Chanthasit, P. (2022). Fossil assemblage from the Khok Pha Suam locality of northeastern, Thailand: an overview of vertebrate diversity from the Early Cretaceous Khok Kruat Formation (Aptian-Albian). Fossil Record, 25(1), 83–98.

Russell, D. A. (1993). The role of Central Asia in dinosaurian biogeography. Canadian Journal of Earth Sciences, 30(10–11), 2002–2012.

Shibata, M., Jintasakul, P., & Azuma, Y. (2011). A New Iguanodontian Dinosaur from the Lower Cretaceous Khok Kruat Formation, Nakhon Ratchasima in Northeastern Thailand. Acta Geologica Sinica – English Edition, 85(5), 969–976.

Shibata, Masateru, Jintasakul, P., Azuma, Y., & You, H.-L. (2015). A New Basal Hadrosauroid Dinosaur from the Lower Cretaceous Khok Kruat Formation in Nakhon Ratchasima Province, Northeastern Thailand. PLOS ONE, 10(12), 28.