“แมลงริ้นดำ สปีชีส์ใหม่ของโลกในประเทศไทย”
ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ ประมวล
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
แมลงริ้นดำ (black fly) จำแนกอยู่ในวงศ์ Simuliidae อันดับ Diptera ปัจจุบันมีรายงานการพบทั่วโลกมากกว่า 2,400 สปีชีส์ แมลงริ้นดำมีความสำคัญทั้งทางการแพทย์และเศรษฐกิจ เนื่องจากแมลงริ้นดำหลายสปีชีส์เป็นพาหะนำเชื้อก่อโรคมาสู่คนและสัตว์ ซึ่งรวมถึงปศุสัตว์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โรคที่มีความสำคัญสูงสุดที่มีแมลงริ้นดำเป็นพาหะของเชื้อก่อโรค คือ Onchocerciasis หรือ river blindness ซึ่งมีสาเหตุจากการติดเชื้อ Onchocerca volvulus ที่มีแมลงริ้นดำอย่างน้อย 27 สปีชีส์/สปีชีส์ซับซ้อน (species complex) เป็นพาหะ นอกจากนี้ยังพบว่าแมลงริ้นดำอย่างน้อย 20 สปีชีส์เป็นพาหะของพยาธิหนอนตัวกลมในสกุล Onchocerca อีกอย่างน้อย 11 สปีชีส์ ซึ่งบางสปีชีส์สามารถถ่ายทอดสู่มนุษย์ได้ การศึกษาแมลงริ้นดำในประเทศไทยได้เริ่มเมื่อ ปี ค.ศ 1911 พบแมลงริ้นดำชนิดแรก คือ S. nigrogilvum ปัจจุบันในประเทศไทยมีรายงานการพบแมลงริ้นดำจำนวน 138 สปีชีส์ ในจำนวนนี้อย่างน้อย 7 สปีชีส์เป็นชนิดที่รายงานการกัดมนุษย์ และพบว่าอย่างน้อย 3 สปีชีส์ เป็นพาหะของ Onchocerca spp. ที่ถ่ายทอดระหว่างสัตว์ นอกเหนือจากการเป็นแมลงพาหะของพยาธิสกุล Onchocerca แมลงริ้นดำอย่างน้อย 2 สปีชีส์ในประเทศไทยกัดสัตว์ปีก เช่น ไก่พื้นเมือง เป็นต้น และยังเป็นพาหะของโปรโทซัวในเลือดสกุล Leucocytozoon และ Trypanosoma ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคที่สำคัญในสัตว์ปีก เช่น leucocytozoonosis เป็นต้น
ภาพที่ 1 ตัวเต็มวัยเพศผู้ของแมลงริ้นดำ Simulium prayooki sp. nov.
จากผลกระทบของแมลงริ้นดำทั้งด้านการแพทย์ สาธารณสุข และการเกษตร การศึกษาด้านอนุกรมวิธานจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ด้วยทุนส่งเสริมอาจารย์และนักวิจัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปี 2565 นำไปสู่การค้นพบแมลงริ้นดำสปีชีส์ใหม่ของโลกจากอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย แมลงริ้นดำสปีชีส์ใหม่นี้ตั้งชื่อว่า Simulium prayooki Pramual, Jomkumsing, Thongyan, Wongpakam & Takaoka (ภาพที่ 1 และ 2) เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร. ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพของแมลงริ้นดำในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง การค้นพบแมลงริ้นดำ S. prayooki sp. nov. ใช้การวิจัยเชิงบูรณาการด้วยการศึกษาสัณฐานวิทยา พันธุศาสตร์เซลล์ พันธุศาสตร์โมเลกุล และนิเวศวิทยา บ่งชี้ให้เห็นความสำคัญของการศึกษาเชิงบูรณาการสำหรับการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของแมลงริ้นดำ
ภาพที่ 2 ตัวเต็มวัยเพศเมียของแมลงริ้นดำ Simulium prayooki sp. nov.
ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่
Pramual, P., Jomkumsing, P., Thongyan, T., Wongpakam, K., & Takaoka, H. (2022). A new species of black fly, formerly cytoform C of the Simulium angulistylum complex (Diptera: Simuliidae), from a high mountain in northeastern Thailand. Tropical Biomedicine, 39(2), 281-290.