ทุนอุดหนุนการวิจัยประเภทส่งเสริมการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
- สังเคราะห์และถอดบทเรียนจากงานวิจัยเรื่อง การประมาณค่าเชิงพื้นที่สำหรับการประเมินปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน
- ทุนอุดหนุนการวิจัยประเภทส่งเสริมการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
- อ.ดร. จุมพล อิสระวิสุทธิ์
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) ในบริเวณภาคเหนือ กับปัจจัยทางกายภาพของพื้นที่และประเมินปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนด้วยวิธีประมาณค่าเชิงพื้นที่ (Interpolation) พร้อมทั้งศึกษาความเหมาะสมของแต่ละวิธีการผลการศึกษา พบว่า ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนเฉลี่ย 5 ปีระหว่าง พ.ศ. 2560-2564 มีปริมาณมากที่สุดในเดือนมีนาคม มีปริมาณเฉลี่ยจากทุกสถานีตรวจวัดเท่ากับ 101 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรรองลงมาคือ เดือนเมษายนและกุมภาพันธ์ โดยมีปริมาณเฉลี่ยน้อยที่สุดในเดือนกรกฎาคม เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยเป็นรายสถานีตรวจวัดพบว่าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมา คือ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย การวิเคราะห์ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ซึ่งมีฝุ่นละอองขนาดเล็กในปริมาณสูงพบว่า มีลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่งที่ราบระหว่างภูเขาที่มีพื้นที่ขนาดเล็กและถูก จำกัด ด้วยแนวภูเขาที่โอบล้อมอยู่ทำให้การกระจายตัวของฝุ่นละอองไม่ดีประกอบกับอยู่ใกล้กับประเทศเพื่อนบ้านจึงได้รับฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่งแจ้งที่ถูกพัดพามาจากหลายแห่งรวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านด้วยเมื่อนำข้อมูลค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนจากสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษจำนวน 9 สถานีในบริเวณภาคเหนือ โดยเลือกข้อมูลจาก 9 สถานีมาทำการประมาณค่าเชิงพื้นที่ด้วยวิธีต่าง ๆ 4 วิธี ได้แก่ IDW, Natural Neighbor, Spline, Kriging และ Trend แล้วตรวจสอบความถูกต้องด้วยข้อมูลจาก 9 สถานีพบว่า การประมาณค่าเชิงพื้นที่ด้วยวิธี IDW เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการจัดทำแผนที่ประเมินปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนโดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ซึ่งมีปริมาณฝุ่นละอองมากที่สุดเนื่องจากมีค่าความแตกต่างระหว่างค่าที่ประเมินได้กับค่าที่ตรวจวัดจริงน้อยที่สุดส่วนการประมาณค่าเชิงพื้นที่ด้วยวิธี Spline เป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมเนื่องจากมีค่าความแตกต่างระหว่างค่าที่ประเมินได้กับค่าที่ตรวจวัดจริงมากที่สุด
เอกสารอ้างอิง
Pradabmook, P., & Laosuwan, T. (2021). The Integration of Geo-informatics Technology with Universal Soil Loss Equation to Analyze Areas Prone to Soil Erosion in Nan Province. ARPN Journal of Engineering and Applied Sciences, 16(8), 823–830.
Pradabmook, P., & Laosuwan, T. (2021). Estimation of PM 10 using Spatial Interpolation Techniques. International Journal on Technical and Physical Problems of Engineering, 13(4), 33–39.
ชื่อผู้เรียบเรียง อ.ดร. จุมพล อิสระวิสุทธิ์
ที่อยู่ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เบอร์โทรศัพท์ 043-754322-40 ต่อ 1110
E-mail : [email protected]