ผศ.ดร.วราภรณ์ สุทธิสา ผศ.ดร.วิชญ รัชตเวชกุล รศ.ดร.ปิยะธิดา พิมพ์วิชัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

งานวิจัยใหม่ : สารหลั่งป้องกันตัวของกิ้งกือกระบอกยักษ์ องค์ประกอบทางเคมี และคุณสมบัติต้านเชื้อจุลชีพ

งานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดินในประเทศไทยได้ประยุกต์ก้าวหน้าไปอีกขั้น โดยทีมวิจัยนำโดย รศ.ดร.ปิยะธิดา พิมพ์วิชัย ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเป็นหนึ่งในภาคีสมาชิกของหน่วยปฏิบัติการซิสเทแมติกส์ของสัตว์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและคุณสมบัติต้านเชื้อจุลชีพของสารหลั่งป้องกันตัวของกิ้งกือกระบอกยักษ์ชนิด 𝐴𝑛𝑢𝑟𝑜𝑠𝑡𝑟𝑒𝑝𝑡𝑢𝑠 𝑠𝑐𝑢𝑙𝑝𝑡𝑢𝑠 จาก จ.ชัยภูมิ พบว่าสารหลั่งป้องกันตัวของกิ้งกือกระบอกยักษ์มีองค์ประกอบทางเคมีอย่างน้อย 13 ชนิดด้วยกัน โดยสารที่พบเป็นหลักสองชนิดอยู่ในกลุ่มสารเบนโซควิโนน (2,3-dimethoxy-1,4-benzoquinone และ 2-methyl-1,4-benzoquinone) นอกจากนี้สารหลั่งป้องกันตัวของกิ้งกือกระบอกยักษ์ยังมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลชีพทั้งกลุ่มแบคทีเรียแกรมบวก แบคทีเรียแกรมลบ และยีสต์ และผลการทดลองยังพบอีกว่าสารหลั่งป้องกันตัวของกิ้งกือกระบอกยักษ์มีประสิทธิภาพสูงกว่ายาต้านเชื้อรา fluconazole ในการยับยั้งยีสต์อีกด้วย

การศึกษาทางชีวเคมีของสารหลั่งป้องกันตัวของกิ้งกือกระบอกยักษ์ในงานวิจัยนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย ซึ่งยังคงมีชนิดของกื้งกือและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดินอีกจำนวนมากให้ศึกษาวิจัย นอกจากนี้กิ้งกือกระบอกยักษ์ชนิด 𝐴𝑛𝑢𝑟𝑜𝑠𝑡𝑟𝑒𝑝𝑡𝑢𝑠 𝑠𝑐𝑢𝑙𝑝𝑡𝑢𝑠 นั้นมีขนาดใหญ่และพบได้ทั่วไปในภาคอีสานของประเทศไทย จึงมีศักยภาพที่จะนำมาเพาะเลี้ยงและต่อยอดในการเป็นโมเดลในการศึกษาประยุกต์ทางการแพทย์และการเกษตรต่อไปในอนาคต

ติดตามผลงานวิจัยได้ที่: Composition and Antimicrobial Activity of Defensive Secretions of the Giant Millipede Anurostreptus sculptus (Diplopoda, Spirostreptida, Harpagophoridae) | Tropical Natural History (tci-thaijo.org)

Tummanam, A. , Sutthisa, W. , Radchatawedchakoon, W. , Backeljau, T. and Pimvichai, P. 2023. Composition and Antimicrobial Activity of Defensive Secretions of the Giant Millipede 𝐴𝑛𝑢𝑟𝑜𝑠𝑡𝑟𝑒𝑝𝑡𝑢𝑠 𝑠𝑐𝑢𝑙𝑝𝑡𝑢𝑠 (Diplopoda, Spirostreptida, Harpagophoridae). Tropical Natural History. 23, 1 (Mar. 2023), 42–51.

ขอบคุณข้อมูล : Animal Systematics Research Unit, CU