โรคมาลาเรีย (ไข้จับสั่นหรือไข้ป่า) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม (Plasmodium) เป็นปัญหาแพร่ระบาดในประเทศเขตร้อน ที่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ การแพร่ระบาดของมาลาเรียพบได้ในแถบเอเชีย แอฟริกาและอเมริกาใต้ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากรโลกโดยรวม ในประเทศไทยก็ยังพบการแพร่ระบาดของมาลาเรียตามจังหวัดชายแดน อีกทั้งเชื้อพลาสโมเดียมที่เป็นสาเหตุของโรคยังเกิดการดื้อยาที่ใช้ในการรักษาในปัจจุบัน ดังนั้นการค้นหาหรือคิดค้นตัวยาใหม่ที่มีฤทธิ์ในการรักษามาลาเรียจึงเป็นสิ่งจำเป็น สำคัญและเร่งด่วน

รองศาสตราจารย์ ดร. ประไพรัตน์ สีพลไกร ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จากหน่วยวิจัยสหสาขาด้านเคมีบริสุทธิ์และเคมีประยุกต์ (Multidisciplinary Research Unit of Pure and Applied Chemistry; MRUPAC) ร่วมกับทีมวิจัยของ ดร. รภัทภร ภัทรภูวิชช์ จากหน่วยวิจัยยามาลาเรีย (Drug Research Unit for Malaria; DRUM) คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ค้นพบสารออกฤทธิ์ต้านมาลาเรียจากพืชสมุนไพรไทย Clausena excavata ที่มีฤทธิ์ดีมากและไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ปกติ ผลจากการค้นพบนี้จะนำไปสู่การศึกษากลไกการออกฤทธิ์เชิงลึกรวมถึงการพัฒนาปรับเปลี่ยนโครงสร้างสารเพื่อเพิ่มฤทธิ์ในการต้านเชื้อมาลาเรียต่อไป

รายละเอียดผลงานวิจัย : https://www.thieme-connect.de/products/ejournals/abstract/10.1055/a-2112-6631