จากผลงานวิจัย : การประยุกต์ใช้สูตรสำเร็จ Trichoderma asperellum MSU007 ควบคุมโรคแอนแทรกโนสของทุเรียน (Application of Trichoderma asperellum MSU007 formulation to control durian anthracnose disease)

รศ.ดร.วราภรณ์ สุทธิสา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

โรคแอนแทรกโนส (Anthracnose) คือ โรคที่เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum spp. การเกิดโรคมักจะกระจายไปทั่วทั้งต้น อาการในระยะใบอ่อนที่แผ่กางเต็มใบจะปรากฏอาการซีดจาง หรือเหลืองอ่อนเป็นจุดเล็กๆ ต่อมาเมื่อเชื้อพัฒนามากขึ้นขอบแผลจะมีสีเข้ม เนื้อแผลส่วนกลางแห้งเป็นสีน้ำตาล และเกิดเป็นจุดดำๆ เล็กๆ บริเวณกลางแผล ซึ่งเป็นส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อราแอนแทรกโนส ต่อมาใบจะเหลืองร่วง เชื้อสาเหตุของโรคแพร่ระบาดไปตามลม เข้าทำลายพืชเมื่อมีสภาพแวดล้อมเหมาะสม อากาศร้อน และมีความชื้นสูง พบได้ทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง แต่มองเห็นอาการได้ชัดเจนในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเป็นระยะที่ทุเรียนกำลังออกดอกติดผล แนวทางการจัดการ เนื่องจากเชื้อสาเหตุแพร่ระบาดได้ทางลม และเชื้อนี้อาศัยอยู่ในพืชหลายชนิดรวมถึงวัชพืชในสวนทุเรียน ดังนั้นจะมีเชื้อสาเหตุอยู่ในพื้นที่เกือบตลอดเวลา รอเวลาที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนา แต่ส่วนใหญ่จะเกิดการพัฒนาในช่วงใบอ่อน หรือช่วงที่พืชอ่อนแอ เช่น สภาพการขาดน้ำในฤดูแล้ง เป็นต้น ดังนั้นในการจัดการโรคนี้ต้องดูแลต้นทุเรียนให้แข็งแรง โดยการให้น้ำและธาตุอาหารพืชที่เหมาะสมและเพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงติดผลของทุเรียนในแหล่งปลูกที่พบปัญหาโรคนี้เสมอๆ ในช่วงทุเรียนแตกใบอ่อน ควรพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชที่มีประสิทธิภาพ เช่น สารเบนโนมิล คาร์เบนดาซิม หรือคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ ซึ่งหากมีการใช้อย่างต่อเนื่องอาจส่งผลให้เชื้อโรคเกิดการต้านทานต่อสารเคมีเหล่านั้น และยังมีสารพิษตกค้างในผลผลิต และสิ่งแวดล้อมด้วย ทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือการใช้ชีวภัณฑ์กลุ่มไตรโคเดอร์มา ซึ่งมีคุณสมบัติในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชร่วมด้วย

เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma sp.) เป็นเชื้อราที่พบได้ทั่วไปในดิน เศษซากพืช ซากสัตว์ อินทรียวัตถุและบริเวณระบบรากพืช มีความสามารถในการควบคุมหรือทำลายเชื้อราที่ก่อโรคในพืชได้หลายชนิดถือได้ว่าเป็นเชื้อราที่ดี มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำการเกษตรอินทรีย์ ไตรโคเดอร์มามีการเจริญเร็ว ผลิตสปอร์ได้มาก (Tang et al., 2001) มีรายงานมากมายเกี่ยวกับการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาในการควบคุมเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคพืช ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ (Kaewchai et al., 2009) ในการประยุกต์ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาแบบชนิดสด ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน อาจไม่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเชื้อสดเป็นเชื้อที่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะเจริญอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาเมื่ออยู่ในสภาพอุณหภูมิปกติ ซึ่งต้องใช้ทันทีขณะที่เชื้อกำลังเจริญ แต่หากเกษตรกรยังไม่พร้อมที่จะใช้อาจต้องมีวิธีที่เหมาะสมในการเก็บรักษาเชื้อสด (Charoenrak and Chamswarng, 2016) และการใช้รูปแบบเชื้อสดต้องใช้เวลาและความชำนาญในการเตรียมเชื้อสดพอสมควร ดังนั้นจึงทำให้การนำไปใช้ค่อนข้างมีข้อจำกัดและเชื้อที่เก็บรักษาไว้ในระยะเวลานานอาจทำให้ความรอดชีวิตของเชื้อลดลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการควบคุมโรคลดลงด้วย ดังนั้นหากต้องการคงประสิทธิภาพของเชื้อราไตรโคเดอร์มาให้สามารถใช้ได้เป็นเวลานาน ใช้ได้ง่าย และสะดวก จึงนำมาพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบของชีวภัณฑ์รูปแบบผง ซึ่งจะทำให้ชีวภัณฑ์มีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้น ใช้ได้ง่าย และสะดวก ในรูปแบบเดียวกับสารเคมี รวมถึงยังคงประสิทธิภาพในการควบคุมโรคพืช โดยเริ่มจากการการทดสอบประสิทธิภาพของเชื้อรา Trichoderma asperellum MSU007 ในการยับยั้งเชื้อสาเหตุโรคแอนแทรกโนสด้วยเทคนิคการเลี้ยงเชื้อร่วมกัน พบว่าสามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยได้ 50.76 – 74.85 เปอร์เซ็นต์  การพัฒนาสูตรสำเร็จเชื้อรา T. asperellum MSU007 ชนิดผง 3 สูตร โดยมีสารพาที่แตกต่างกัน ได้แก่ ทัลคัม แป้งข้าวโพด และแป้งมันสําปะหลัง พบว่าสูตรสำเร็จ สูตร 3 (แป้งมันสําปะหลัง) สามารถลดการเกิดโรคแอนแทรกโรสได้ดีที่สุด และดีกว่าการใช้สารเคมีคาร์เบนดาซิมอีกด้วย

บรรณานุกรม

Charoenrak, P. and Chamswarng, C. 2016.  Efficacies of wettable pellet and fresh culture of Trichoderma asperellum biocontrol products in growth promoting and reducing dirty panicles of rice. Agriculture and Natural Resources 50(4): 243-249.

Kaewchai, S., Soytong, K. and Hyde, K.D. 2009. Myco-fungicides and fungal biofertilizers. Fungal Diversity 38: 25-50.

Tang, W., Yang, H.  and Ryder, M. 2001. Research and Application of Trichoderma spp. in Biological Control of Plant Pathogens. In: Bio-Exploitation of Filamentous Fungi (eds. Pointing, S.B. and Hyde, K.D.), Fungal Diversity Research Series 6: 403-435.