รศ.ดร.ขนิษฐา สมตระกูล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

อะทราซีน เป็นสารกำจัดวัชพืชที่นิยมใช้ควบคุมวัชพืชในพืชไร่เศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี และอ้อย ความเป็นพิษของอะทราซีนส่งผลทำลายวัชพืชกลุ่มใบกว้าง และยังส่งผลเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่เป้าหมายในการทำลายอีกด้วย (Singh et al., 2018) การศึกษาความเป็นพิษของอะทราซีนที่ตกค้างในดินต่อพืช นิยมดำเนินการในพืชเศรษฐกิจที่เป็นอาหารมนุษย์ เช่น ถั่วเหลืองและมันฝรั่ง (Reis et al., 2018; Soltani et al., 2011) ในขณะที่การศึกษาความเป็นพิษของอะทราซีนและการศึกษาการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชอาหารสัตว์ที่ปลูกในดินที่ปนเปื้อน อะทราซีนพบรายงานจำกัด หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 เป็นพืชอาหารสัตว์ที่ได้รับความนิยมปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธีระวุฒิ ศีรษะภูมิ, 2559) โดยการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์นิยมปลูกในบริเวณพื้นที่ รกร้างว่างเปล่าและทำการเกษตรประเภทอื่นไม่ได้ผล เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการแย่งพื้นที่สำหรับการทำเกษตรกรรมเพื่อผลิตอาหารของมนุษย์ (Sekiya et al., 2014) ดังนั้น การศึกษาการส่งเสริมการปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 ในดินที่ปนเปื้อนอะทราซีนด้วยการใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช ได้แก่ กรด 1-แนฟทาลีนแอซีติก 6-เบนซิลอะดีนีน และไทเดียซูรอน จึงเป็นประโยชน์ต่อการนำความรู้ไปฟื้นฟูสภาพดินที่ปนเปื้อนสารกำจัดวัชพืช เนื่องจากการปนเปื้อนของอะทราซีนสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในบริเวณเกษตรกรรมที่มีการใช้งานโดยตรงและบริเวณใกล้เคียง (Phewnil et al., 2012; Sun et al., 2017) ข้อค้นพบจากวิจัยสรุปว่า การปลูกเนเปียร์ในดินที่ปนเปื้อนด้วยอะทราซีน 6.8 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งเป็นระดับที่สูงเกินกว่าค่าที่มีรายงานตรวจพบปนเปื้อนอะทราซีนในประเทศไทย (ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์, 2559; Phewnil et al., 2012) โดยระดับความเข้มข้นของอะทราซีนที่ทดสอบไม่เป็นพิษต่อการเจริญเติบโตของยอดและรากของเนเปียร์ปากช่อง 1 การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชทั้ง 3 ชนิดในระดับความเข้มข้นมากกว่า 1 มิลลิกรัม/ลิตร ส่งผลลดการเจริญเติบโตของเนเปียร์ปากช่อง 1 การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชทั้ง 3 ชนิด ในระดับความเข้มข้นที่ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 1 มิลลิกรัม/ลิตร มีแนวโน้มส่งเสริมการเจริญเติบโตของเนเปียร์ปากช่อง 1 ได้ นอกจากนี้การปลูกเนเปียร์ปากช่อง 1 ในดินที่ปนเปื้อนยังมีแนวโน้มช่วยบำบัดอะทราซีนออกจากดินได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากลดปริมาณอะทราซีนที่ปนเปื้อนในดินลงได้มากกว่าร้อยละ 67 ภายในเวลา 26 วัน เมื่อเทียบกับความคงทนของอะทราซีนในดินที่มีการทำเกษตรกรรมพบการตกค้างของอะทราซีนในดินได้เป็นระยะเวลาตั้งแต่ 60-100 วันภายหลังการใช้งาน (Steffens et al., 2022) ดังนั้น การส่งเสริมการปลูกเนเปียร์เพื่อฟื้นฟูสภาพดินที่มีการตกค้างจากสารกำจัดวัชพืชจึงเป็นประโยชน์อีกแง่หนึ่งของการทำเกษตรกรรมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับหญ้าอาหารสัตว์

ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : Using Plant Growth Regulators to Stimulate Growth of Napier Grass Under Atrazine Contamination: Soil and Sediment Contamination: An International Journal: Vol 0, No 0 – Get Access (tandfonline.com)