เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตร ระหว่าง คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ และคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กับ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 อาคารบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล ผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน มีนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้กล่าวแสดงความรู้สึกถึงความสำคัญของความร่วมมือครั้งนี้ และ นายนพดล ศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ได้นำเสนอรายงานวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลง ภายในงานมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การประยุกต์ใช้วิทยาการข้อมูลและแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการบริหารจัดการความเสี่ยงและพัฒนาเกษตรกรรมที่ยั่งยืน” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยภัทร บุษบาบดินทร์ รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและพัฒนาศักยภาพองค์กร และหัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการจัดการภัยพิบัติลุ่มน้ำแบบบูรณาการ รวมถึงหัวหน้าหน่วยวิจัย Data Science and Sustainable Agriculture: Climate Change, Innovation and Extreme Risk Assessment (DSSA)

จากนั้นได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่าง รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล ผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กับ นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยมีคณะผู้บริหารและบุคลากรจากทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยาน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ ประมวล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.จันทิมา พลพินิจ คณบดีคณะวิทยาการสารสนเทศ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุมลวรรณ ชุ่มเชื้อ คณบดีคณะเทคโนโลยีนางสาวกาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร,นายนพดล ศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 และนายสุชาติ ผุแปง ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ

วัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัย และพัฒนาศักยภาพบุคลากรของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อยกระดับภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยให้มีความก้าวหน้า และการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูล ความร่วมมือครั้งนี้ครอบคลุมถึง การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ การพัฒนานวัตกรรม และการสนับสนุนงานวิจัยร่วมกัน โดยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงและบูรณาการฐานข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตร นอกจากนี้ ยังมีแผนการจัด ประชุม สัมมนา และเวิร์กชอปทางวิชาการ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และขยายเครือข่ายความร่วมมือให้กว้างขวางยิ่งขึ้น บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้มีระยะเวลาทั้งสิ้น 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนาม