“ริ้นสกุล Culicoides สปีชีส์ใหม่ของโลกในจังหวัดมหาสารคาม”

ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ ประมวล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

  • สังเคราะห์และถอดบทเรียนจากงานวิจัยเรื่อง ความหลากหลายของแมลงพาหะและความสัมพันธ์กับเชื้อก่อโรคลิวโคไซโตซูโนซิสในสัตว์ปีกในประเทศไทย
  • ทุนอุดหนุนการวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปี 2564

ริ้นสกุล Culicoides จัดอยู่ในอันดับ (order) Diptera วงศ์ (family) Ceratopogonidae ทั่วโลกมีรายงานการพบกว่า 1,347 สปีชีส์ ริ้นสกุล Culicoides เป็นแมลงดูดเลือดที่มีขนาดเล็ก แต่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากหลายสปีชีส์เป็นพาหะนำเชื้อก่อโรคได้แก่ ไวรัส โปรโทซัว และพยาธิหนอนตัวกลม ซึ่งสามารถถ่ายทอดมาสู่มนุษย์และสัตว์ชนิดอื่นๆ ตัวอย่างของโรคที่สำคัญที่มีสาเหตุจากเชื้อก่อโรคที่มีริ้นสกุล Culicoides เป็นพาหะ เช่น oropouche fever, bluetongue disease, epizootic hemorrhagic disease, African horse sickness, masonellosis, leucocytozoonosis เป็นต้น ในประเทศไทยมีรายงานการพบริ้นสกุล Culicoides มากกว่า 100 สปีชีส์ ซึ่งอย่างน้อย 8 สปีชีส์ มีรายงานการเป็นพาหะของเชื้อก่อโรคในภูมิภาคอี่นๆ ของโลก ได้แก่ C. brevitarsis Kieffer, C. fulvus Sen and Das Gupta, C. imicola Kieffer, C. peregrinus Kieffer, C. arakawae (Arakawa), C. guttifer Meijere, C. histrio Johannsen และ C. oxyztoma Kieffer ตัวอย่างผลกระทบที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับริ้นสกุล Culicoides ในประเทศไทย ได้แก่ การระบาดของ African horse sickness (AHS) ที่เกิดในประเทศไทยในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ซึ่งทำให้ม้าตายกว่า 500 ตัว การระบาดของ AHS ในประเทศไทยถือเป็นการระบาดครั้งแรกของโรคนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเชื่อว่าริ้น C. imicola ซึ่งมีรายงานในต่างประเทศว่าเป็นพาหะของ AHS

ริ้นสกุล Culicoides นอกจากจะเป็นพาหะของไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคที่สำคัญในปศุสัตว์แล้ว ยังเป็นพาหะของเชื้อ Haemoproteus และ Leucocytozoon (Akiba) caulleryi ที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรค Leucocytozoonosis โดยมีริ้น Culicoides อย่างน้อย 4 สปีชีส์ ได้แก่ C. arakawae, C. circumscriptus, C. schultzei และ C. odibilis เป็นพาหะ นอกจากนี้ยังมีรายงานถึงความเป็นไปได้ที่ริ้นสกุล Culicoides อาจเป็นพาหะของเชื้อ Plasmodium จากความสำคัญของริ้นสกุล Culicoides ทั้งด้านการแพทย์และการเกษตร การศึกษาอนุกรมวิธานจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

จากการสำรวจความหลากหลายของริ้นสกุล Culicoides ในประเทศไทย โดยการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปี 2564 ทำให้ค้นพบริ้นสกุล Culicoides สปีชีส์ใหม่ของโลก โดยพบครั้งแรกที่บ้านหวาย ตำบลนาสีนวน อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม และได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ตามจังหวัดที่ค้นพบ คือ Culicoides mahasarakhamense Pramual, Jomkumsing, Piraonapicha, Jumpato, 2021 หรือ “ริ้นมหาสารคาม” (ภาพที่ 1) ซึ่งผลการค้นพบดังกล่าวได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ* วารสาร Acta Tropica (ฐานข้อมูล SCIE, Q1, Impact Factor 3.112) ริ้นสปีชีส์นี้พบมากในหลายพื้นที่ทั้งในจังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ การศึกษาพฤติกรรมการกัดพบว่าริ้นมหาสารคามดูดเลือดจากไก่พื้นเมือง นอกจากนี้ยังพบว่าริ้นสปีชีส์ดังกล่าวอาจเป็นพาหะนำเชื้อก่อโรคกลุ่มที่ทำให้เกิดโรค “มาลาเรียสัตว์ปีก” (avian malaria) คือ เชื้อ Leucocytozoon sp. และ Plasmodium juxtanucleare และ P. gallinaceum

*Pramual, P., Jomkumsing, P., Piraonapicha, K., & Jumpato, W. (2021). Integrative taxonomy uncovers a new Culicoides (Diptera: Ceratopogonidae) biting midge species from Thailand. Acta Tropica, 220, 105941.

https://doi.org/10.1016/j.actatropica.2021.105941

ภาพที่ 1 ริ้นมหาสารคาม (Culicoides mahasarakhamense) (A) ตัวเต็มวัยเพศผู้ (B) ตัวเต็มวัยเพศเมีย