เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 หน่วยวิจัยดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ร่วมนำเสนอ โครงการวิจัยรากสามสิบ (สาวน้อยร้อยผัว) ในหัวข้อ “พืชสมุนไพรรากสาบสิบ โอกาสของพื้นที่ดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย” ณ สำนักงานพัฒนาที่ดินกาฬสินธุ์ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคามและกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สร้างความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาและวิจัยเพื่อแก้ปัญหาดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้น เพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยและพัฒนาพื้นที่ดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยมีเป้าหมายสูงสุดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ (Paradigm shift) สู่การแก้ไขปัญหาดินเค็มอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง “การใช้ประโยชน์พื้นที่ดินเค็มอย่างเต็มศักยภาพ” ในระยะแรกนี้พบพืชรากสามสิบซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่นเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ดินเค็ม มีศักยภาพสามารถนำไปต่อยอดและบูรณาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาดินเค็มอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต โดยโครงการวิจัยในครั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)