คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ขอเชิญอาจารย์ นิสิตและผู้สนใจเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “Introduction to Species Distribution Modelling” ในระหว่างวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้อง SC1-104 ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์
วิทยากรโดย อ.ดร.นนทิวรรษ แต้สุข
หลักการและเหตุผล
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกลายเป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นนำไปสู่การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และความแปรปรวนของรูปแบบสภาพอากาศและเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายและสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ได้ทันก็จะลดจำนวนลงและอาจสูญพันธุ์ไปในที่สุด นอกจากนี้สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปยังส่งผลให้เกิดสภาวะที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตหลายๆชนิด ทำให้เกิดการย้ายเข้ามาหรือการแพร่กระจายของสิ่งมีชีวิตที่เดิมไม่เคยมีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งสามารถส่งผลกระทบในด้านต่างๆ เช่น ด้านสุขภาพ อาจทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยมากขึ้นจากการระบาดของโรคที่มาพร้อมกับการเข้ามาของสัตว์พาหะนำโรค ด้านเกษตรกรรม ทำให้ผลผลิตลดลงจากการเข้ามาของศัตรูพืช เป็นต้น ดังนั้นการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจการตอบสนองของสิ่งมีชีวิตต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตจึงมีความสำคัญอย่างมากในการช่วยวางแผนรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงและลดความรุนแรงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
Species distribution modelling (SDM) เป็นเครื่องมือที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการตอบสนองของสิ่งมีชีวิตและปัจจัยแวดล้อม โดยเฉพาะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา SDM ได้ถูกใช้ในงานวิจัยอย่างแพร่หลายทั้งในการคาดการณ์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพยากรณ์การแพร่กระจายของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน (invasive species) การค้นพบกลุ่มประชากรหรือชนิดพันธุ์ใหม่ รวมไปถึงการวิจัยเพื่อตอบคำถามต่างๆทางด้านนิเวศวิทยาและวิวัฒนาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้งานวิจัย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมที่เป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย จึงได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง Introduction to Species Distribution Modelling เพื่อให้คณาจารย์ และนักวิจัยได้เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นในการใช้เครื่องมือเพื่อนำไปสู่การทำวิจัยที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และสามารถเพิ่มโอกาสในการตีพิมพ์เผยแพร่งานวิจัยในวารสารระดับชาติ และนานาชาติ
วัตถุประสงค์
1) เพื่อให้อาจารย์/นักวิจัย ได้เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเรื่องการนำ Species distribution modelling มาใช้ในการทำวิจัย และการเรียนการสอน
2) เพื่อพัฒนาเครือข่ายกลุ่มนักวิจัยที่มีความพร้อมในการผลิตผลงานวิจัยที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และมีผลกระทบสูงต่อสังคม รวมถึงผลักดันผลงานวิจัย เพื่อนำไปสู่การจัดทำแนวทางหรือข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติและนโยบายสาธารณะในการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กำหนดการ
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565
เวลา 08.30 – 09.00 น. ลงทะเบียน
เวลา 09.00 – 09.15 น. กล่าวเปิดงาน
เวลา 09.15 – 12.00 น. หัวข้อในการอบรม “Concept of Species Distribution Modelling” โดย อ.ดร. นนทิวรรษ แต้สุข
เวลา 12.00 – 13.00 น. ร่วมรับประทานอาหารกลางวัน
เวลา 13.00 – 16.30 น. หัวข้อในการอบรม “Introduction to modelling algorithms”
โดย ดร. นนทิวรรษ แต้สุข
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565
เวลา 08.30 – 09.00 น. ลงทะเบียน
เวลา 09.00 – 12.00 น. หัวข้อในการอบรม “Applications I: The discovery of known and unknown species/ Predicting species’ invasions” โดย อ.ดร. นนทิวรรษ แต้สุข
เวลา 12.00 – 13.00 น. ร่วมรับประทานอาหารกลางวัน
เวลา 13.00 – 16.30 น. หัวข้อในการอบรม “Applications II: Predicting the potential impacts of climate change on biodiversity” โดย อ.ดร. นนทิวรรษ แต้สุข
เวลา 16.30 น. ปิดโครงการ
หมายเหตุ กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม
เวลา 10.50 – 11.00 น. พักเบรก (วันที่ 21 และ 22 พ.ย. 2565)
เวลา 14.50 – 15.00 น. พักเบรก (วันที่ 21 และ 22 พ.ย. 2565)