สังเคราะห์และถอดบทเรียนจากงานวิจัยเรื่อง : ก การออกแบบโมเลกุลของสารช่วยเพิ่มความเข้ากันได้สำหรับพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ระบบ พอลิแลคติกแอซิด/พอลิบิวทิลีนซัคซิเนต
ชื่อทุนอุดหนุน : ทุนอุดหนุนการวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566
ผู้เรียบเรียง ผศ.ดร.คงวิทย์ ประสิทธิ์นอก
ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
งานวิจัยนี้ใช้วิธีการจำลองพลวัตเชิงโมเลกุลระดับอะตอมเพื่อศึกษาผลกระทบของโครงสร้างโมเลกุลของโคพอลิเมอร์ ชนิด พอลิแลคไทด์ (PLA)-พอลิ (บิวทิลีนซัคซิเนต) (PBS) ต่อประสิทธิภาพการเป็นสารเพิ่มความเข้ากันได้ให้กับพอลิเมอร์ผสมระบบ PLA/PBS ผลลัพธ์ที่ได้แสดงให้เห็นว่าโคพอลิเมอร์ ชนิดไดบล็อกมีประสิทธิภาพสูงสุดในการผสมเข้ากับโฮโมโพลิเมอร์ของ PLA และ PBS และสามารถลดแรงตึงระหว่างผิวหน้าของโฮโมโพลิเมอร์ได้ดีที่สุด การจำลองการเสียรูปแกนเดียวถูกนำมาใช้ตรวจสอบสมบัติด้านแรงดึงของระบบพอลิเมอร์ผสม ซึ่งเปิดเผยให้เห็นพฤติกรรมการเสียรูปของพอลิเมอร์ผสมในระดับโมเลกุล พบว่าทั้งโครงสร้าง (เช่น แบบเชิงเส้นและแบบกิ่งก้าน) และลำดับโมโนเมอร์ของโคพอลิเมอร์สามารถส่งผลต่อประสิทธิภาพการทนแรงดึง ระบบที่ใช้ไดบล็อกโคพอลิเมอร์มีความต้านทานแรงดึงและโมดูลัสยืดหยุ่นสูงกว่าระบบที่ใช้โคพอลิเมอร์ชนิดอื่นๆ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างโคพอลิเมอร์แบบไตรบล็อกและกราฟต์ พบว่าแบบไตรบล็อกให้ประสิทธิภาพการทนแรงดึงที่ดีกว่าแบบกราฟต์ ผลที่ได้จากการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าโคพอลิเมอร์ที่มีโครงสร้างแบบเชิงเส้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโคพอลิเมอร์แบบ ไดบล็อก อาจเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับใช้เป็นสารช่วยเพิ่มความเข้ากันได้ให้กับระบบพอลิเมอร์ผสม PLA/PBS