รองศาสตราจารย์ ดร. บังอร กองอิ้ม
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ทุนอุดหนุนการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

หอยกาบน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดใหม่ของโลกนี้มีความยาวของเปลือกถึง 21 เซนติเมตร เป็นหอยกาบน้ำจืดสกุลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาหอยกาบน้ำจืดด้วยกัน สามารถเรียกว่า หอยกาบใหญ่แม่น้ำชี หรือ หอยกาบใหญ่ลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นหอยกาบน้ำจืดชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำโขง หรือเรียกว่า หอยกาบใหญ่ศาสตราจารย์สมศักดิ์ ปัญหา ดังชื่อวิทยาศาสตร์คือ Chamberlainia somsakpanhai Kongim, Sutcharit & Jeratthitikul, 2023 ซึ่งตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์ ดร. สมศักดิ์ ปัญหา ผู้จุดประกายให้ทำวิจัยสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังกลุ่มหอย

ปัจจุบันหอยกาบชนิดนี้อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากจำนวนลดลงมากจนแทบไม่พบตัวเป็น ทั้งนี้ รศ.ดร.บังอร กองอิ้ม และคณะ ได้สำรวจหอยชนิดนี้มาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี พบตัวเป็นเพียง 2 ตัว โดยชาวบ้านใช้ประโยชน์ด้วยการนำตัวมาประกอบอาหารเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ หรือนำมาเลี้ยงสัตว์ ส่วนเปลือกหอยจะนำมาทำเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับ ภาชนะใส่อาหาร เป็นต้น หรือเผาเปลือกเพื่อผลิตแคลเซียมคาร์บอเนต หรือ ปูนขาว ในธรรมชาติหอยกาบน้ำจืดจะทำหน้าที่กรองตะกอนในแหล่งน้ำทำให้น้ำใส เปลือกเมื่อถูกย่อยสลายจะช่วยหมุนเวียนแร่ธาตุคืนสู่ระบบนิเวศแหล่งน้ำ

การระบุชนิดหรือสปีชีส์ของหอยกาบนั้น รศ.ดร.บังอร กองอิ้ม แลคณะ ได้ใช้หลายวิธีการในการศึกษาวิจัย ได้แก่ การศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยา โครโมโซม และดีเอ็นเอ

โดยผลงานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Tropical Natural History ซึ่งเป็นวารสารระดับนานาชาติ จัดอยู่ในฐานข้อมูล Scimago (Scopus, Quartile 2) ดังเอกสารอ้างอิง

Kongim, B., Sutcharit, C. and Jeratthitikul, E. (2023). Discovery of A New Endangered Freshwater Mussel Species in the Genus Chamberlainia Simpson, 1900 (Bivalvia: Unionidae) from Mekong Basin. Tropical Natural History. Supplement 7; 242-250.

https://li01.tci-thaijo.org/index.php/TNH/article/view/257982

หอยกาบใหญ่แม่น้ำชี Chamberlainia somsakpanhai Kongim, Sutcharit & Jeratthitikul, 2023เปลือกยาวถึง 21 เซนติเมตร หรือประมาณสองฝ่ามือมนุษย์

หอยกาบใหญ่แม่น้ำชี Chamberlainia somsakpanhai Kongim, Sutcharit & Jeratthitikul, 2023 เปลือกใหญ่ หนา และมีน้ำหนักมาก A) เปลือกขวา B) เปลือกซ้าย C) เปลือกมุมบน

แม่น้ำชี แหล่งที่พบหอยกาบใหญ่แม่น้ำชี

สายสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการของหอยกาบใหญ่ทั้ง 3 ชนิด จากการวิเคราะห์ลำดับเบสจำนวน 1,920 คู่เบส ของยีน COI, 16S และ 28S มีระยะห่างทางพันธุกรรมมากเพียงพอในการยืนยันว่าเป็นคนละชนิด

แผนที่การกระจายตัวของหอยกาบใหญ่ สกุล Chamberlainia จำนวนทั้งหมดในโลกนี้ 3 ชนิด ได้แก่ C. hainesiana แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา (สีฟ้า), C. duclerci แห่งลุ่มน้ำแม่กลอง (สีแดง) และ C. somsakpanhai แห่งลุ่มน้ำโขงโดยตัวเป็นที่ใช้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์และบรรยายลักษณะพบในแม่น้ำชี บริเวณบ้านท่าสองคอน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม และบ้านท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม