สังเคราะห์และถอดบทเรียนจากงานวิจัย เรื่อง สัณฐานวิทยาเฟส, สมบัติเชิงกล และสมบัติเชิงความร้อนของพลาสติกชีวภาพชนิดพอลิแอลแลคไทด์-บล็อค-พอลิเอทธิลีน-บล็อค-พอลิแอลแลคไทด์เสริมแรงด้วยแคลเซียมคาร์บอเนต
คณะผู้วิจัย : รองศาสตราจารย์ยอดธง ใบมาก รองศาสตราจารย์ประสงค์ สีหานามและอาจารย์วิริยา ทองสมบูรณ์
หน่วยวิจัยพอลิเมอร์แตกสลายทางชีวภาพได้ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ชื่อทุนอุดหนุนงบประมาณเงินรายได้ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีงบประมาณ 2566
พอลิแลคไทด์ (PLLA) ได้รับความสนใจในการใช้เป็นพลาสติกชีวภาพเพราะไม่เป็นพิษและแตกสลายทางชีวภาพได้ อย่างไรก็ตาม PLLA มีความยืดหยุ่นต่ำเป็นข้อจำกัดในการใช้งานต่างๆ พอลิเมอร์ร่วมแบบกลุ่มของพอลิแอลแลคไทด์-บล็อก-พอลิเอทธิลีนไกลคอล-บล็อก-พอลิแอลแลคไทด์ (PLLA-PEG-PLLA) เป็นพลาสติกชีวภาพที่ยืดหยุ่นสูงเมื่อเทียบกับ PLLA วัตถุประสงค์ในงานนี้คือดัดแปร PLLA-PEG-PLLA ด้วยสารตัวเติมแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) ที่มีราคาถูกเพื่อปรับปรุงสมบัติต่างๆเปรียบเทียบกับคอมพอสิต PLLA/CaCO3 พบว่าการเติม CaCO3 เพิ่มความเป็นผลึกและความเสถียรเชิงความร้อนของ PLLA-PEG-PLLA แต่ไม่เปลี่ยนแปลงสำหรับ PLLA ที่วิเคราะห์ด้วยเทคนิคดิฟเฟอเรนเชียลสแกนนิ่งแคลอรีเมทรี (DSC), เอ็กซเรย์ดิฟแฟรกโทรเมทรี (XRD) และการวิเคราะห์เทอร์โมกราวิเมทริก (TGA) สัณฐานวิทยาของเฟสที่วิเคราะห์ด้วยเทคนิคสแกนนิ่งอิเลคตรอนไมโครสโครปี (SEM) พบการยึดเกาะระหว่าง PLLA-PEG-PLLA และ CaCO3 ที่แข็งแรงกว่าระหว่าง PLLA และ CaCO3 ดังแสดงในรูปที่ 1 สมบัติเชิงกลของคอมพอสิตวิเคราะห์ด้วยเทคนิคการทดสอบการต้านแรงดึง พบว่าการเติม CaCO3 ทำให้ค่าการต้านแรงดึงและมอดุลัสของยังของ PLLA-PEG-PLLA เพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าเหล่านี้ของ PLLA ลดลง ดังนั้น CaCO3 เป็นสารตัวเติมราคาถูกที่เหนี่ยวนำปรากฏการณ์การก่อผลึกและเสริมแรงสำหรับ PLLA-PEG-PLLA