ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ ประมวล
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

สังเคราะห์และถอดบทเรียนจากงานวิจัยเรื่อง ความหลากหลายและนิเวศวิทยาของแมลงที่เป็นปรสิตภายนอกและเป็นพาหะของเชื้อก่อโรคในไก่พื้นเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

ทุนอุดหนุนการวิจัยวิจัยงบประมาณเงินรายได้ประเภททุนนักวิจัยอาวุโส ประจำปี พ.ศ. 2565

ริ้นในสกุล Culicoides Latreille ทั่วโลกมีรายงานการพบมากกว่า 1,300 สปีชีส์ ในจำนวนนี้หลายสปีชีส์เป็นพาหะนำเชื้อก่อโรคที่สำคัญ เช่น  Oropouche fever ในมนุษย์ bluetongue disease ในสัตว์เคี้ยวเอื้อง African horse sickness ในม้า และ luecocytozoonosis ในไก่ การระบาดของโรคต่างๆ เหล่านี้นอกจากส่งผลต่อสุขภาวะของทั้งมนุษย์และสัตว์แล้ว ยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก มีการประมาณการว่า การระบาดของ bluetongue virus ในฝรั่งเศสสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่า 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ การระบาดของ African horse sickness สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่า 95 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

ในประเทศไทยมีรายงานการพบริ้นสกุล Culicoides จำนวน 101 สปีชีส์ ในจำนวนนี้อย่างน้อย 8 สปีชีส์ ได้แก่ C. brevitarsis, C. fulvus, C. imicola, C. peregrinus, C. arakawae, C. guttifer, C. oxystoma และ C. histrio เป็นพาหะนำเชื้อก่อโรค นอกจากนี้การศึกษาในประเทศไทยยังตรวจพบเชื้อก่อโรคในริ้นสกุล Culicoides ในประเทศไทย ได้แก่ Leucocytozoon sp., Plasmodium juxtanucleare, P. gallinaceum, Leishmania martiniquensis พบใน C. mahasarakhamense เชื้อ bluetongue virus ใน C. orientalis, C. imicola, C. oxystoma และ C. fulvus เชื้อ Trypanosoma ใน C. huffi บ่งชี้ว่าริ้นสกุล Culicoides ในประเทศไทยหลายสปีชีส์อาจเป็นพาหะนำเชื่อก่อโรคที่สำคัญที่ถ่ายทอดไปยังคนและสัตว์ชนิดอื่นๆ รวมถึงสัตว์เลี้ยงที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ

ข้อมูลชนิดของสัตว์ที่แมลงดูดเลือดมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาด้านความสามารถของการเป็นพาหะนำเชื้อก่อโรคและระบาดวิทยาของโรคที่มีแมลงดูดเลือดเป็นพาหะ สำหรับริ้นสกุล Culicoides ในประเทศไทยมีรายงานชนิดของสัตว์ที่ดูดเลือดแล้ว 21 สปีชีส์ จากทั้งหมด 101 สปีชีส์ จากการศึกษาเรื่องความหลากหลายและชนิดของสัตว์ที่ริ้นสกุล Culicoides ดูดเลือด โดยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยวิจัยงบประมาณเงินรายได้ประเภททุนนักวิจัยอาวุโส งบประมาณเงินรายได้ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปี พ.ศ. 2565 ซึ่งได้ทำการตรวจสอบชนิดของสัตว์ที่ริ้นดูดเลือดด้วยวิธีพันธุศาสตร์โมเลกุล สำหรับริ้นสกุล Culicoides ในประเทศไทยดูดเลือดจำนวน 16 สปีชีส์ ในจำนวนนี้ 5 สปีชีส์ ได้แก่ C. hegneri (ดูดเลือดกระบือ) C. brevipalpis (ดูดเลือดกระบือ) C. parahumaeralis (ดูดเลือดกระบือและไก่) C. clavipalpis (ดูดเลือดไก่) และ C. palpifer (ดูดเลือดกระบือ) เป็นการรายงานครั้งแรกในประเทศไทย การศึกษานี้พบว่าริ้นส่วนใหญ่ คือร้อยละ 65 ของตัวอย่างที่ตรวจสอบชนิดของสัตว์ที่ดูดเลือดทั้งหมด 77 ตัวอย่าง ดูดเลือดจากกระบือ (ภาพที่ 1) แม้ว่าในพื้นที่คอกสัตว์จะมีสัตว์ชนิดอื่นที่มีจำนวนมากกว่า เช่น โค ไก่ รวมถึงมนุษย์ สาเหตุที่ริ้นสกุล Culicoides ดูดเลือดจากกระบือมากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ แม้ว่าจะมีความหนาแน่นต่ำกว่าอาจเป็นผลจากขนาดลำตัวที่มีขนาดใหญ่ทำให้มีพื้นที่สำหรับการเข้ากัดและดูดเลือดมากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ นอกจากนี้สีผิวที่เป็นสีดำของกระบือดึงดูดแมลงดูดเลือดมากกว่าสีขาวหรือสีน้ำตาลของวัว ซึ่งจากการทดลองพบว่าริ้น C. impunctus เลือกที่จะเข้าหาพื้นที่สีดำมากกว่าสีขาว