บทความโดย : สินีนาฎ พรั่งพร้อมกุล MSU TODAY ต้นฉบับบทความ : เจลผสมเทียมต้านมดลูกอักเสบวัว (msu.ac.th)
เจลผสมเทียมต้านมดลูกอักเสบวัว
นวัตกรรมใหม่ นักวิจัย มมส สร้างผลงานผลิตเจลผสมเทียมต้านมดลูกอักเสบวัว ซึ่งผลิตภัณฑ์เจลผสมเทียมที่เกษตรกรใช้ไม่นำเข้าจากต่างประเทศแล้ว เพราะปัจจุบันทีมนักวิจัยเก่ง มมส ได้มีการคิดงานวิจัยที่ตอบสนองต่อวามต้องการของเกษตรกรโดยผลิตภัณฑ์เจลหล่อลื่นในสัตว์ใหญ่เป็นการลดการอักเสบและฆ่าเชื้อจุลชีพของโค-กระบือในประเทศไทย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นุชสุภา สุนทมาลา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมวิจัยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สพ.ญ.ดร.ชรินญา โสอินทร์ (มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์)
ที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้
ผลิตภัณฑ์เจลผสมเทียมที่เกษตรกรที่ใช้ส่วนใหญ่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ผลิตภัณฑ์เจลหล่อลื่นในสัตว์ใหญ่จากประเทศจีน เป็นต้น โดยเป็นลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเป็นเจลหล่อลื่นเท่านั้น ไม่ได้มีคุณสมบัติลดการอักเสบและฆ่าเชื้อจุลชีพ ดังนั้นนักวิจัยจึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการปศุสัตว์โค-กระบือในประเทศไทย จึงนำผลงานวิจัยจาก 2 เรื่องของนักวิจัยทั้ง 2 คน ได้แก่ ฤทธิ์ต้านจุลชีพของสารสกัดจากเปลือกมังคุด และฤทธิ์ลดการอักเสบของสารสกัดจากหญ้าพันงูขาวมาพัฒนาต่อยอด เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ โดยได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีงบประมาณ 2565
วัตถุประสงค์ทำงานวิจัยชิ้นนี้
สร้างนวัตกรรมเจลผสมเทียมต้านมดลูกอักเสบโค-กระบือที่มีคุณสมบัติที่ดี มีความปลอดภัยสูงและมีศักยภาพในการผลิตเชิงพาณิชย์
คุณสมบัติของของเจลผสมเทียม
เจลผสมเทียมผสมสารสกัดจากเปลือกมังคุด และหญ้าพันงูขาวมีประสิทธิผลในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดมดลูกอักเสบทั้งในหลอดทดลอง และในสัตว์ทดลองอีกทั้งยังไม่มีผลข้างเคียงต่อเนื้อเยื่อของอวัยวะสืบพันธุ์ และการทำงานของตับ และไต จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้เจลผสมเทียมผสมสารสกัดจากเปลือกมังคุด และหญ้าพันงูขาวนี้ ในการป้องกันการเกิดมดลูกอักเสบ และเยื่อบุผนังมดลูกอักเสบในโค-กระบือ ซึ่งเป็นโรคทางระบบสืบพันธุ์ที่ส่งผลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และลดปัญหาการติดเชื้อเรื้อรังซึ่งมีผลต่อการผสมติดจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ของโค-กระบือได้
จุดเด่นของเจลผสมเทียมเป็นอย่างไร
สำหรับจุดเด่นของเจลผสมเทียมคือ การลดการแพร่ระบาด และควบคุมการเกิดโรคทางระบบสืบพันธุ์โค-กระบืออย่างมีประสิทธิผล มีแนวทางดังนี้
1) ลดการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียจากอุปกรณ์ผสมเทียม
2) เพิ่มการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของเซลล์เยื่อบุมดลูก
3) ช่วยลดการเกิดการอักเสบจากกระบวนการผสมเทียมและการตรวจโรคทางระบบสืบพันธุ์
4) ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับระบบสืบพันธุ์โค-กระบือ นอกจากนี้ยังไม่มีผลิตภัณฑ์เจลผสมเทียมที่ผลิตในประเทศไทย โดยเกษตรกรที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะทำการซื้อผลิตภัณฑ์เจลผสมเทียมจากต่างประเทศ ทำให้ยากต่อการควบคุมคุณภาพ และเสียดุลการค้า จากงานวิจัยก่อนหน้าผู้วิจัยพบว่าสารสกัดจากเปลือกมังคุด และหญ้าพันงูขาวมีคุณสมบัติจำเพาะ ดังนี้
– เปลือกมังคุดมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียในบาดแผลของกระต่าย
– หญ้าพันงูขาวมีฤทธิ์ลดการอักเสบอย่างจำเพาะต่อเซลล์แมโครฟาจ อีกทั้งสารสกัดทั้ง 2 ชนิด ไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์เม็ดเลือดขาว และเซลล์เม็ดเลือดแดง ดังนั้นผู้วิจัยจึงต้องการพัฒนานวัตกรรมเจลผสมเทียมผสมสารสกัดจากพืชสมุนไพรไทยเพื่อเกษตรกรไทย และการปศุสัตว์ไทย ซึ่งนวัตกรรมเจลผสมเทียมผสมสารสกัดจากมังคุด และหญ้าพันงูขาวที่ได้จะมีคุณสมบัติจำเพาะ เป็นสารธรรมชาติที่ได้จากพืชสมุนไพรไทย ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย มีความคงตัว มีต้นทุนการผลิตต่ำ มีศักยภาพในการผลิตเชิงพาณิชย์สูง อีกทั้งยังเป็นการลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์เจลผสมเทียมจากต่างประเทศ และสามารถต่อยอดการผลิตสารเสริมฤทธิ์เชิงพาณิชย์
จลผสมเทียมเหมาะที่จำไปใช้กับสัตว์ชนิดใดมากที่สุด
เจลผสมเทียมนี้เหมาะที่จะใช้กับ โค-กระบือ
ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานหรือไม่
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่มีปัญหา มีการทดสอบประสิทธิภาพทั้งในห้องปฏิบัติการและในโคอาสาสมัคร แต่การที่จะนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ และการนำไปใช้ในชุมชนจำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป
เรามีการผลิตเจลผสมเทียมสัตว์ขึ้นมาใช้อย่างเป็นทางการแล้วหรือไม่
สำหรับนวัตกรรมชิ้นนี้ ได้ทำการยื่นจดอนุสิทธิบัตรภายใต้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และยังไม่ได้มีการผลิตในเชิงพาณิชย์
มีนโยบายในการนำผลงานวิจัยชิ้นนี้ลงสู่ชุมชนหรือไม่
หากมีการผลิตในเชิงพาณิชย์ จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้ในการผสมเทียมโค-กระบือ และสามารถลดอัตราเสี่ยงการเป็นโรคในระบบสืบพันธุ์ของโค-กระบือได้
มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีการสนับสนุนอย่างไรบ้าง
ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะ หน่วยงาน และบุคลาดกร ที่มีส่วนในการสนับสนุนทุนวิจัย ภายใต้กองส่งเสริมการวิจัยและบริการวิชาการ ปีงบประมาณ 2565
ในอนาคตจะมีการพัฒนาผลงานวิจัย อย่างไรบ้าง
ในอนาคตจะเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดธรรมชาติ เพื่อนำไปใช้ในมนุษย์ สัตว์ ปศุสัตว์ เพื่อส่งเสริมชุมชนและเกษตรกร และอาจพัฒนาผลิตภัณฑ์เจลผสมเทียมไปใช้ในสัตว์อื่นๆ ด้วย
ฝากอะไรถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ในการคิดค้นงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อสังคม และชุมชน
งานวิจัยนั้นๆ หากสามารถประยุกต์เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้ จะสามารถช่วยให้ประเทศไทยมีนวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในประเทศ เพื่อการพัฒนาชุมชนและการปศุสัตว์ไทยอย่างยั่งยืน