ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชนิดาพร ตุ้มปี่สุวรรณ และอาจารย์ ดร. ศักดิ์บวร ตุ้มปี่สุวรรณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พบหอยทากบกชนิดใหม่ของโลก การค้นพบในครั้งนี้ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร Raffle Bulletin of Zoology ในปี ค.ศ. 2019
หอยทากบกชนิดใหม่นี้ คือ “หอยกระดุมขอบสัน” มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Landouria strobiloides Tumpeesuwan & Tumpeesuwan, 2019 เป็นหอยที่มีเปลือกขนาดเล็กทรงกลม ค่อนข้างแบน กว้าง 13.4-16.7 มิลลิเมตร สูง 7.1-9.6 มิลลิเมตร เปลือกด้านบนนูนคล้ายโดม มีลายเป็นริ้ว ๆ ตามแนวรัศมี และมีสันคมบริเวณขอบของเปลือกวงสุดท้าย มีสีน้ำตาลเข้มสะดือเปลือกกว้าง และลึก
“หอยกระดุมขอบสัน” Landouria strobiloides Tumpeesuwan & Tumpeesuwan, 2019 พบได้เฉพาะบริเวณภูเขาหินปูนสวนหินผางาม อำเภอหนองหิน จังหวัดเลย การศึกษาครั้งนี้เป็นการยืนยันการค้นพบหอยทากในสกุล Landouria ครั้งแรกของประเทศไทย จากการศึกษาลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์ระบบสืบพันธุ์ และรูปร่างลักษณะของแผ่นฟัน (radula) พบว่าข้อมูลทั้งสองส่วนนี้นำมาสนับสนุนข้อมูลทางสัณฐานวิทยาของเปลือกจนสามารถแยกออกเป็นหอยทากสปีชีส์ใหม่ของโลกได้
ชื่อประจำชนิด “strobiloides” มาจากลักษณะของส่วนของอวัยวะสืบพันธุ์ ที่เรียกว่าแฟลกเจลลัม มีลักษณะคล้ายกับ สรอบิลัส (trobilus) ซึ่งเป็นกลุ่มของก้านชูอับสปอร์ของพืชมีท่อลำเลียงไม่มีเมล็ด
การค้นพบ “หอยกระดุมขอบสัน” ซึ่งเป็นหอยทากบกชนิดใหม่ของโลก เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ภูเขาอันสลับซับซ้อนของจังหวัดเลย มีความหลากหลายทางชีวภาพที่ซ่อนเร้น รอการค้นพบอีกมาก นอกจากนี้ข้อมูลจากการวิจัยนี้ยังสามารถใช้เป็นตัวอย่างในการสอนวิชาสัตวภูมิศาสตร์ (Zoogeography) และวิชาชีววิทยาของมอลลัสค์ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามการศึกษาสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ยังคงมีให้ศึกษา และให้ชื่อวิทยาศาสตร์อีกมากมาย ตราบใดที่สภาพแวดล้อมยังอุดมสมบูรณ์