กิ้งกือ เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในกลุ่มสัตว์ขาปล้อง (arthropod) พวกเดียวกับ แมลง กุ้ง ปู และแมงมุม ที่มีโครงร่างแข็งภายนอก กิ้งกือเป็นสัตว์ที่มีขาจำนวนมากที่สุดในโลก ซึ่งชื่อเรียกในภาษาอังกฤษคือ millipedes (milli = พัน และ ped = ขา) แปลว่า พันขา แต่อย่างไรก็ตามกิ้งกือที่มีขามากที่สุดที่มีการค้นพบมีขาจำนวน 750 ขา ได้แก่ สปีชีส์ Illacme plenipes Cook & Loomis, 1928 ปัจจุบันมีรายงานการค้นพบกิ้งกือแล้วประมาณ 12,000 สปีชีส์ จากทั่วโลก โดยกิ้งกือมีรูปร่างหลากหลาย (ภาพที่ 1) และมีขนาดลำตัวตั้งแต่ 2 มม. ไปจนถึง 38 ซม.
ส่วนปากของกิ้งกือมีวิวัฒนาการมาให้เหมาะสมกับการเป็นผู้บริโภคเศษซากพืชเท่านั้น จึงไม่สามารถกัดหรือทำอันตรายมนุษย์เราได้ ซึ่งแตกต่างจากตะขาบที่เป็นผู้ล่าที่มีเขี้ยว และมีพิษ ด้านข้างลำตัวมีรู ozopore ที่ภายในมีต่อมสร้างสารเคมี เช่น เบนโซควิโนน และสารประกอบไซยาไนด์ เพื่อใช้ขับไล่ศัตรูหรือสื่อสารระหว่างกิ้งกือ
กิ้งกือ โดยทั่วไปมีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ มีรูเปิดของอวัยวะสืบพันธุ์เพศเมียอยู่ที่ปล้องที่สาม ส่วนเพศผู้ในตัวเต็มวัยมีการเปลี่ยนแปลงขาในปล้องที่ 7 ให้มีลักษณะพิเศษเพื่อช่วยในการผสมพันธุ์ (ภาพที่ 2) เรียกว่า โกโนพอด (gonopods) (ภาพที่ 3) แต่ในกลุ่มกิ้งกือกระสุนจะมีขาคู่สุดท้ายเปลี่ยนแปลงไปเป็นอวัยวะที่ช่วยในการยึดจับตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์เรียกว่า telopods โดยอวัยวะช่วยเหล่านี้มีความแตกต่างกันทางโครงสร้างอย่างชัดเจนในกิ้งกือแต่ละสปีชีส์ และยังเป็นลักษณะสัณฐานที่นิยมใช้ในการใช้จัดจำแนกสปีชีส์ของกิ้งกืออีกด้วย
กิ้งกือ เป็นผู้บริโภคระดับต้นของห่วงโซ่อาหาร จึงเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญให้กับผู้ล่าในลำดับที่สูงกว่า แม้ว่ากิ้งกือจะสามารถม้วนตัว และสามารถปล่อยสารเคมีในการป้องกันตัวได้ แต่ศัตรูผู้ล่าหลายกลุ่มที่ยังสามารถล่ากิ้งกือได้ เช่น นกสามารถจิกทะลุผนังลำตัวกิ้งกือได้ กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำสามารถกินกิ้งกือได้ทั้งตัว มดบางชนิดที่มีกรามพิเศษไว้สำหรับลอกขนของกิ้งกือขนก่อนกินได้ และมวนเพชฌฆาตมีรยางค์ปากที่แข็งและแหลมคมเป็นพิเศษที่สามารถแทงทะลุผ่านเปลือกที่หนา และแข็งของกิ้งกือเข้าไปดูดกินของเหลวที่อยู่ภายในตัวของกิ้งกือ
กิ้งกือ สามารถพบได้ในระบบนิเวศที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชื้น ใต้ก้อนหิน ใต้ขอนไม้ผุ หรือในถ้ำ โดยเฉพาะบริเวณเขาหินปูนที่พบกิ้งกือได้หลากหลายสปีชีส์ แม้กิ้งกือจะถือเป็นผู้ย่อยสลายเศษซาก แต่ก็มีกิ้งกือบางสปีชีส์ที่ก่อความเสียหายกับผลผลิตทางการเกษตร โดยเข้าไปกัดกินรากพืชที่กำลังเจริญเติบโต สำหรับประเทศไทยมีข่าวการระบาด หรือบุกรุกเข้าไปในบ้านเรือนของกิ้งกือจนสร้างความตื่นตระหนกกับประชาชน ประกอบกับความเชื่อของคนไทยที่ว่า กิ้งกือสามารถกัด และวางไข่ในแผลที่กัดได้ จึงทำให้คนส่วนใหญ่รังเกลียด และกลัวกิ้งกือ ซึ่งนั่นเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเนื่องจากปากของกิ้งกือไม่มีเขี้ยวที่แหลม จึงไม่สามารถกัด หรือทำร้ายคนได้อย่างที่เข้าใจกัน
กิ้งกือ มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศอย่างมาก ทำหน้าที่ย่อยสลายเศษซากพืช และอินทรียวัตถุต่าง ๆ ให้กลายเป็นธาตุอาหารหมุนเวียนกลับคืนสู่ธรรมชาติ (ภาพที่ 4) ภายในลำไส้ของกิ้งกือมีจุลินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายเศษซากอยู่จำนวนมาก ทำให้มูลก้อนเล็ก ๆ คล้ายยาลูกกลอน (ภาพที่ 5) ช่วยเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ให้กับธรรมชาติ กิ้งกือจึงเปรียบเสมือนกับเป็นโรงงานผลิตปุ๋ยเคลื่อนที่ ทำงานอันสำคัญยิ่งนี้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย คาดการณ์ว่ากิ้งกือมีส่วนช่วยย่อยสลายเศษซากมากถึง 10% ของปริมาณเศษซากพืชที่ร่วงหล่นทั้งหมดในป่าธรรมชาติ
การศึกษากิ้งกือในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการค้นพบกิ้งกือสปีชีส์ใหม่ของโลกจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกถึง 91 สปีชีส์ จากการรายงานไว้ก่อนหน้านี้จำนวน 105 สปีชีส์ แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพของกิ้งกือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทยด้วย งานวิจัยนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการเปิดโลกความรู้เกี่ยวกับกิ้งกือในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งความรู้ทั้งหลายเหล่านี้จะนำพาเราไปสู่การจัดการทรัพยากรทางชีวภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืนต่อไปในอนาคต