รองศาสตราจารย์ขวัญุเรือน นาคสุวรรณ์กุล
ภาควิชาชีววิทยาและพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ไลเคน คือ สิ่งมีชีวิตสองชนิดที่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัย (symbiosis) ไลเคนกําเนิดจากราและสาหร่ายท่ีมีความเฉพาะเจาะจงชนิดต่อกันเท่านั้น (คล้ายกับเนื้อคู่หรือ soulmate) ราสามารถจับคู่กับสาหร่ายสีเขียว (green algae) หรือไซยาโนแบคทีเรียได้ (cyanobacteria) ราในไลเคนเรียกว่า ไมคอไบออนท์ (mycobiont) ทำหน้าที่ดูดซับน้ำจากบรรยากาศและสร้างสารไลเคน ส่วนสาหร่ายเรียกว่า โฟโตไบออนท์ (photobiont) ทำหน้าที่สังเคราะห์ด้วยแสงสร้างอาหาร

ไลเคนมีโครงสร้างร่างกายเรียกว่า แทลลัส (thallus) ประกอบไปด้วยชั้นของราและสาหร่ายเท่านั้น ในขณะที่แทลลัสของไลเคนดูดซับน้ำจากบรรยากาศเพื่อสะสมไว้ใช้ในการสังเคราะห์ด้วยแสงทำให้ดูดซับมลพิษที่ปะปนอยู่ในชั้นบรรยากาศไปพร้อมกับน้ำด้วย มลพิษบางชนิดเมื่อเข้าไปสะสมในแทลลัสของไลเคนจะเข้าไปขัดขวางการทำงานของสาหร่ายทำให้อัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงต่ำลงจนบางทีไม่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้เป็นสาเหตุทำให้ไลเคนหยุดการเจริญหรืออาจทำให้ไลเคนตายได้ ด้วยเหตุนี้ไลเคนจึงมีความอ่อนไหวต่อการเพิ่มขึ้นของมลพิษทางอากาศ เราจึงสามารถใช้ไลเคนเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพของอากาศได้เบื้องต้น เนื่องจากไลเคนชอบอากาศที่บริสุทธิ์ปราศจากมลพิษ หากต้นไม้บริเวณใดไม่พบไลเคนให้สันนิษฐานว่าน่าจะมีอากาศไม่บริสุทธิ์ ในปีพ.ศ. 2562 นักจัยได้ค้นพบไลเคนชนิดใหม่ของโลก ที่พบเจริญบนใบไม้ (foliicolous lichen) ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยเฉพาะแห่งและมีพื้นที่จำกัดในการเติบโตของแทลลัสตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ Phytotaxa 400(2): 051-063 (2019) พบทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่
1. Porina lumbschii Naksuwankul & Lücking
(ตั้งชื่อไลเคนชนิดนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่นักวิจัยไลเคนชาวเยรมัน H. Thorsten Lumbsch)

ลักษณะที่สำคัญของไลเคน: แทลลัสแบบครัสโตส เจริญบนใบไม้ มีผิวเรียบ สีเทาค่อนข้างเขียว ไม่พบโพรแทลลัส หนาประมาณ 10-15 ไมครอน พบสาหร่ายสีเขียวสกุล Trentepohlia มีเพอริทิเชียรูปเลนส์ สีน้ำตาลเข้มและปกคลุมด้วยส่วนของแทลลัส มีขนาด 0.4-0.5 มิลลิเมตร พบคริสทัสโลสตราทัม (Crystallostratum) อินโวลูครีลัม (Involucrellum) สีน้ำตาลค่อนข้างเหลือง ทำปฏิกิริยากับโซเดียมไฮดรอกไซด์ให้สีค่อนข้างแดง (K+ reddish) ชั้นไฮมีเนียมไม่มีสี มีความสูงประมาณ 150-150 ไมครอน พาราไฟซีส (Paraphyses) ไม่แตกแขนง แอสคัส (Ascus) รูปทรงกระบอกขนาด 120-150 x 20-26 ไมครอน ไม่มีสี แอสโคสปอร์ (Ascospores) แบบมูริฟอร์ม (muriform) พบแปดอันในหนึ่งแอสคัส ไม่มีสี รูปร่างขอบขนาดคล้ายสีเหลี่ยมผืนผ้าและพบเจลาตินล้อมรอบขนาด 114-140 x 12-14 ไมครอน

แหล่งอาศัย: ป่าดิบชื้นบนใบพืชพื้นล่าง ในจังหวดนครศรีธรรมราชที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 167 เมตร

2. Porina subatriceps Naksuwankul & Lücking(ตั้งชื่อไลเคนชนิดนี้เนื่องจากมีลักษณะทางสัณฐานวิทยาคล้ายกับชนิด Porina atriceps)

ลักษณะที่สำคัญของไลเคน: แทลลัสแบบครัสโตส เจริญบนใบไม้ มีผิวเรียบ มีความมันวาว สีเทาค่อนข้างเหลือง ไม่พบโพรแทลลัส หนาประมาณ 10-15 ไมครอน พบสาหร่ายสีเขียวสกุล Phycopeltis มีเพอริทิเชียรูปครึ่งวงกลมจนถึงคล้ายตุ่มหรือหูด สีเขียวค่อนข้างเหลืองและพบลักษณะคล้ายจุดสีน้ำตาลเข้มรอบช่องเปิด (ostiole) มีขนาด 0.2-0.35 มิลลิเมตร พบคริสทัสโลสตราทัม (Crystallostratum) อินโวลูครีลัม (Involucrellum) สีน้ำตาลค่อนข้างเหลือง ทำปฏิกิริยากับโซเดียมไฮดรอกไซด์ให้สีค่อนข้างแดง (K+ reddish) ชั้นไฮมีเนียมไม่มีสี มีความสูงประมาณ 90-100 ไมครอน พาราไฟซีส (Paraphyses) ไม่แตกแขนง แอสคัส (Ascus) รูปทรงกระบอกขนาด 65-70 x 8-10 ไมครอน ไม่มีสี แอสโคสปอร์ (Ascospores) แบบมีผนังกั้นตามขวาง 7-11 ผนังกั้น (septate) พบแปดอันในหนึ่งแอสคัส ไม่มีสี รูปร่างขอบขนาดคล้ายสีเหลี่ยมผืนผ้าขนาด 28-30 x 3-4 ไมครอน

แหล่งอาศัย: ป่าดิบแล้วบนใบพืชพื้นล่าง ในจังหวดนครพนมที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 820 เมตร

3. Porina thailandica Naksuwankul & Lücking
(ตั้งชื่อไลเคนชนิดนี้ตามชื่อประเทศที่ค้นพบ คือ ประเทศไทย)

ลักษณะที่สำคัญของไลเคน: แทลลัสแบบครัสโตส เจริญบนใบไม้ มีผิวเรียบ มีความมันวาว สีเขียวค่อนข้างเทา ไม่พบโพรแทลลัส หนาประมาณ 10-15 ไมครอน พบสาหร่ายสีเขียวสกุล Phycopeltis มีเพอริทิเชียรูปเลนส์แบนมากจนถึงลักษณะคล้ายจาน สีน้ำตาลเข้มและสีจางลงด้านขอบ มีขนาด 0.35-0.45 มิลลิเมตร ไม่พบคริสทัสโลสตราทัม (Crystallostratum) อินโวลูครีลัม (Involucrellum) สีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำ ไม่ทำปฏิกิริยากับโซเดียมไฮดรอกไซด์ (K-) ชั้นไฮมีเนียมไม่มีสี มีความสูงประมาณ 70-80 ไมครอน พาราไฟซีส (Paraphyses) ไม่แตกแขนง แอสคัส (Ascus) รูปทรงกระบอกขนาด 65-70 x 8-10 ไมครอน ไม่มีสี แอสโคสปอร์ (Ascospores) แบบมีผนังกั้นตามขวาง 3 ผนังกั้น (septate) พบแปดอันในหนึ่งแอสคัส ไม่มีสี รูปร่างขอบขนาดคล้ายสีเหลี่ยมผืนผ้าและพบเจลาตินล้อมรอบขนาด 14-18 x 3-4 ไมครอน

แหล่งอาศัย: ป่าดิบชื้นบนใบพืชพื้นล่าง ในจังหวดนครศรีธรรมราชที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 167 เมตร และพบในจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 69 เมตร

ปี พ.ศ. 2559 ได้ค้นพบไลเคนบนเปลือกไม้ (corticolous lichen) 5 ชนิด โดยผู้วิจัยและคณะได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการนานาชาติ MycoKeys 17: 47-63, 2016 หนึ่งชนิดในจำนวน 5 ชนิดได้ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่ผู้เก็บตัวอย่างไลเคนชาวไทยที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเห็ดรา อาจารย์วินัย กลิ่นหอม จากพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามคือ ชนิด Ocellularia klinhomiiPapong & Lumbsch โดยค้นพบ ไลเคนชนิดใหม่ของโลกได้ที่น้ำตกแสงจันทร์ จังหวัดอุบลราชธานี ในป่าดิบแล้ง

จากการทำวิจัยอย่างต่อเนื่องนานกว่า 10 ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550 ถึงปีพ.ศ. 2562 ผู้วิจัยได้ค้นพบไลเคนชนิดใหม่ของโลกจำนวน 47 ชนิด และไลเคนสกุลใหม่ของโลกจำนวน 1 สกุล โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากแหล่งทุนภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ได้แก่

– ทุนวิจัยจากกองส่งเสริมการวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีพ.ศ. 2552-2553
– ทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ (TRF Grant for New Researcher, TRG) จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ปีพ.ศ. 2552-2554
– ทุนพัฒนานักวิจัย (เมธีวิจัย สกว.) (TRF Research Career Development Grant, RSA) จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีพ.ศ. 2555-2558
– ทุนพัฒนานักวิจัย (เมธีวิจัย สกว.) (TRF Research Career Development Grant, RSA) จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีพ.ศ. 2558-2561