แอคติโนแบคทีเรียหรือแอคติโนมัยซีท คือ แบคทีเรียแกรมบวก บางสกุลสร้างสปอร์ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีคล้ายคลึงกับเชื้อรา เอนโดไฟติกแอคติโนแบคทีเรีย (endophytic actinobacteria) คือ แอคติโนแบคทีเรียที่อาศัยที่อยู่ในเนื้อเยื่อพืชโดยไม่ก่อให้เกิดโทษ ในทางตรงกันข้ามจุลินทรีย์กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญในการผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพได้หลากหลายชนิด เช่น สารปฏิชีวนะ สารต้านมะเร็ง สารต้านเบาหวาน สารลดอาการอักเสบ และสารกดภูมิคุ้มกัน   เป็นต้น ปัจจุบัน พบว่าสารปฏิชีวนะที่ใช้ในทางการค้ามากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ผลิตได้จากแอคติโนแบคทีเรีย  และแอคติโนแบคทีเรียมีประโยชน์ในการผลิตสารส่งเสริมการเจริญของพืช เช่น ฮอร์โมนออกซิน จิบเบอเรลลิน และไซโตไคนิน และใช้ประโยชน์ในการต้านเชื้อก่อโรคพืช และกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับพืช (Induce Systematic Resistant หรือ Systemic Acquire Resistant)

เนื่องจากในปัจจุบันเชื้อดื้อยา และเชื้อฉวยโอกาสมีเพิ่มมากขึ้น เชื้อโรคดื้อยาที่มีความสำคัญอันดับ 1 ของโลกคือ Methicillin Resistant Staphylococcus aureus หรือ MRSA ดั้งนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างมากในการค้นหาสารปฏิชีวนะชนิดใหม่ เอนโดไฟติกแอคติโนแบคทีเรียที่แยกได้จากพืชมีแนวโน้มที่จะเป็นสกุลที่หายาก (rare) และเป็นจุลินทรีย์ชนิดใหม่ ซึ่งมีโอกาสที่จะผลิตสารปฏิชีวนะชนิดใหม่เช่นเดียวกัน และในปัจจุบันมีรายงานว่าแบคทีเรียประมาณ 1-10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถูกค้นพบและคัดแยกได้
จากหัวข้อวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกของ ผศ. ดร. อรอุมา แก้วกล้า ได้ทำการศึกษาความหลากหลายของเอนโดไฟติกแอคติโนแบคทีเรียจากพืชพื้นเมืองในประเทศออสเตรเลีย คือ     ต้นยูคาลิปตัส ต้นสน และต้นแอพริคอท และได้ทำการวิจัยอย่างต่อเนื่องหลังจากจบปริญญาเอกร่วมกับอดีตอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ Prof. Christopher Franco, The Flinders University ประเทศออสเตรเลีย  และได้ทำการจำแนกแอคติโนแบคทีเรียในสกุลใหม่ และชนิดใหม่ ใช้วิธีการจำแนกแบบ Polyphasic taxonomy โดยใช้ข้อมูลทางจีโนไทป์ เช่น ลักษณะทางสัณฐานวิทยา ลักษณะทางชีวเคมีและสรีรวิทยา และฟีโนไทป์ คือ ลำดับเบสของยีน 16s rRNA ปริมาณของเบสกัวนีนและไซโตซ๊น และ DNA-DNA hybridization เป็นต้น  ได้ค้นพบแอคติโนแบคทีเรียสกุลใหม่ และชนิดใหม่ของโลก และได้ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Systematic and Evolutionary Microbiology และ Antonie van Leeuwenhoek ดังนี้
1. Flindersiella endophytica gen. nov. sp. nov.  (2010)ตั้งชื่อสกุลเพื่อเป็นเกียรติแก่มหาวิทยาลัย Flinders ที่เป็นบริเวณที่ต้นไม้ที่ใช้คัดแยกเจริญ
2. Nocardia callistridis sp. nov  (2010)   ตั้งชื่อชนิดตามชื่อสกุลของพืชที่คัดแยก Callitris preissii
3. Pseudonocardia adelaidensis sp. nov (2010) ตั้งชื่อชนิดตามชื่อเมือง Adelaide ประเทศออสเตรเลีย
4. Pseudonocardia eucalypti sp. nov (2011) ตั้งชื่อชนิดตามชื่อสกุลของพืชที่คัดแยก Eucalyptus  microcarpa
5.Actinopolymorpha pittospori sp. nov. (2011) ตั้งชื่อชนิดตามชื่อสกุลของพืชที่คัดแยก Pittosporum angustifolium
6. Promicromonospora endophytica sp. nov. (2012)ตั้งชื่อชนิด endophytica ตามแหล่งที่มาคือในเนื้อเยื่อของพืช endophyte
7.  Kribbella endophytica   sp. nov. (2013) )  ตั้งชื่อชนิด endophytica ตามแหล่งที่มาคือของในเนื้อเยื่อของพืช endophyte
8. Kribbella pittospori sp. nov (2016) ตั้งชื่อชนิดตามชื่อสกุลของพืชที่คัดแยก Pittosporum angustifolium
9. Promicromonospora callitridis sp. nov(2017)ตั้งชื่อชนิดตามชื่อสกุลของพืชที่คัดแยก Callitris preissii
10. Actinomycetospora callitridis sp. nov. (2019)  ตั้งชื่อชนิดตามชื่อสกุลของพืชที่คัดแยก Callitris preissii
ผศ.ดร. อรอุมา แก้วกล้าได้ใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทางด้านการจำแนกแอคติโนแบคทีเรีย และการประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการผลิตยาปฏิชีวนะ และการประยุกต์ใช้ทางเกษตรกรรม โดยได้รับการสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในหัวข้อเรื่อง “การศึกษาความหลากหลายของแอคติโนแบคทีเรียจากเนื้อเยื่อข้าว บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ อ. สุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และการใช้ประโยชน์เพื่อการผลิตข้าวหอมมะลิอย่างยั่งยืน”  ได้ทำการศึกษาแอคติโนแบคทีเรียสปีชีส์ใหม่ คือ

Streptomyces roietensis sp. nov. (2017) ตั้งชื่อชนิดตามจังหวัดร้อยเอ็ด ‘Roietensis” บริเวณที่เก็บตัวอย่างข้าวที่ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

จากงานวิจัย “การศึกษาความหลากหลายของแอคติโนแบคทีเรียจากพืชสมุนไพรไทยบริเวณอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย จังหวัดอุบลราชธานี และการผลิตสารปฏิชีวนะในการยับยั้งเชื้อก่อโรค”  ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ทำการศึกษาแอคติโนแบคทีเรียชนิดใหม่ คือ  

Micromonospora terminaliae sp. nov.  (2017) ตั้งชื่อชนิดตามชื่อสกุลของพืชที่คัดแยก คือ Terminalia mucronata
ภาพที่ 1 ลักษณะสปอร์ของแอคติโนแบคทีเรียภายใต้กล้อง Scanning Electron Microscope (SEM)
A) Micromonospora terminaliae TMS7TB) Kribbella pittospori PIP158T
C) Actinomycetospora callitridis CAP335TD) Promicromonospora callitridis CAP94T
โดยสรุป เนื้อเยื่อพืชเป็นแหล่งของเอนโดไฟติกแอคติโนแบคทีเรียสกุลใหม่และชนิดใหม่ ที่มีประสิทธิภาพสูงในการผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ รวมทั้งยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ และมีประโยชน์ในการผลิตสารส่งเสริมการเจริญของพืช และต้านทานเชื้อก่อโรคพืช  ในอนาคตจะได้ทำการวิจัยเพิ่มเติมและพัฒนาเชื้อจุลินทรีย์ที่คัดเลือกได้ เพื่อใช้ในการผลิตยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ และใช้ในรูปหัวเชื้อเพื่อเพิ่มผลผลิตในข้าวหอมมะลิ อันจะนำไปสู่การผลิตข้าวอย่างยั่งยืนเพื่อพัฒนาการเกษตรของประเทศให้มีศักยภาพที่แข่งขันกับประชาคมโลกได้ในอนาคต