การค้นพบหอยทากบก 5 ชนิดใหม่ของโลก จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชนิดาพร ตุ้มปี่สุวรรณ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์บวร ตุ้มปี่สุวรรณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

หน่วยปฏิบัติการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น (Biodiversity and Traditional Knowledge)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชนิดาพร ตุ้มปี่สุวรรณ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์บวร ตุ้มปี่สุวรรณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ดร. เบญจวรรณ นาหก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขต องครักษ์  ค้นพบหอยทากบก ๕ ชนิดใหม่ของโลก เพิ่มเติมจากการค้นพบหอยกระดุมผางาม Landouria strobiloides Tumpeesuwan & Tumpeesuwan, 2019 ในปี พ.ศ.๒๕๖๒ จากแนวภูเขาหินปูน และภูเขาหินทรายในจังหวัดเลย และจังหวัดขอนแก่น การค้นพบในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ของ ดร. เบญจวรรณ นาหก ซึ่งได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร European Journal of Taxonomy  ฉบับที่ ๗๖๗ หน้า ๑๔๒-๑๖๖ เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๔ หอยทากบกชนิดใหม่ 5 ชนิด  นี้ เรียกว่า “หอยกระดุม” ได้แก่ หอยกระดุมภูผาล้อม Landouria circinata Nahok et al., 2021, หอยกระดุมผิวปุ่ม Landouria tuberculata Nahok et al., 2021, หอยกระดุมขอบสัน Landouria trochomorphoides Nahok et al., 2021, หอยกระดุมใหญ่ Landouria chloritoides Nahok et al., 2021 และหอยกระดุมภูผาม่าน Landouria elegans Nahok et al., 2021 จากการค้นพบหอยทากบกในงานวิจัยชิ้นนี้ แสดงให้เห็นว่าเขตภูเขาหินปูน และภูเขาหินทรายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นพื้นที่ที่ยังมีความหลากหลายทางชีวภาพที่ซ่อนเร้น รอการค้นพบอีกมาก หากประชาชนและภาครัฐช่วยกันรักษาพื้นที่ธรรมชาติในท้องถิ่นของตนเองไว้ ทรัพยากรอันมีคุณค่าที่รอการค้นพบทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้อาจนำมาใช้ศึกษาวิจัยเพิ่มมูลค่าเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนได้ในอนาคต ข้อมูลจากการวิจัยนี้เป็นการเพิ่มพูนองค์ความรู้ทางด้านอนุกรมวิธาน นิเวศวิทยา และการกระจายทางภูมิศาสตร์ของหอยทากบกขนาดเล็ก ซึ่งใช้เป็นตัวอย่างในการสอนวิชาสังขวิทยา (Malacology) อนุกรมวิธาน (Taxonomy) และชีวภูมิศาสตร์ (Biogeography) ได้เป็นอย่างดี

ผลงานวิจัยตีพิมพ์