ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิริภัค สุระพร
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

จีโนมไวรัส BmNPV ของหนอนไหมสายพันธุ์ประเทศไทย

หนอนไหม (Bombyx mori) เป็นแมลงที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากผลผลิตจากไหมนำมาเป็นหัตกรรมผ้าไหมที่สวยงาม เป็นเอกลักษณ์ของไทยโด่งดังไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้สร้างภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่เรื่อง เบนเฮอร์ (Ben Hur) และ The King and I ได้สั่งผ้าไหมไทยจากบริษัทจิมทอมป์สัน เพื่อตัดเป็นชุดแต่งกายให้กับดารา นักแสดง ส่งผลให้ภาพยนตร์ดังกล่าวได้รับรางวัลออสการ์ด้านเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม ปัจจุบันผ้าไหมไทยเป็นที่นิยมในการนำสวมใส่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ไหมจึงเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในชุมชน ซึ่งเป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่มีการเลี้ยงไหมมากที่สุด เกษตรกรหันมาเลี้ยงไหมเป็นอาชีพหลัก สร้างรายได้ในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้มีการนำโปรตีนผงไหมไปผลิตเครื่องสำอาง เวชภัณฑ์ยา และวัตถุดิบทางด้านการแพทย์

อย่างไรก็ตามปัญหาที่สำคัญในการเลี้ยงไหม คือการระบาดของโรคแกรสเซอรี่ หรือ “โรคเต้อ” หมายถึงอาการหนอนไหมที่เป็นโรค มีสีเหลือง ซีด เมื่อมีอาการรุนแรง ลำตัวหนอนไหมแตก มีของเหลวหรือน้ำเลือดที่ประกอบด้วยไวรัส ไหลออกมาภายนอก มีสาเหตุจากนิวคลีโอโพลี่ฮีโดรไวรัส หรือ BmNPV การเข้าทำลายในระยะแรกหนอนไหมไม่แสดงอาการ แต่แสดงอาการรุนแรงและตาย เมื่อหนอนไหมอยู่ในวัยที่ 5 ซึ่งเป็นระยะที่สร้างรังไหม ทำให้เกษตรกรเสียเวลา แรงงาน ต้นทุนในการเลี้ยงไหม แต่กลับไม่ได้ผลผลิตจากไหมเลย ณ ปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาหรือวิธีป้องกันการเกิดโรคที่ได้ผลอย่างชัดเจน


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิริภัค สุระพร สังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เล็งเห็นความสำคัญ และตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ทำการวิจัยศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาและศึกษาจีโนมของไวรัส BmNPV โดยเก็บหนอนไหมที่แสดงอาการโรคเต้อจากเกษตรกรผู้เลี้ยงไหมทั่วทุกภูมิภาคที่มีการเลี้ยงไหม ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เหนือ กลาง และใต้

พบความหลากหลายของโครงสร้างของผลึกโปรตีนไวรัส BmNPV ที่มีอนุภาคไวรัสฝังตัวอยู่เป็นจำนวนมาก และมีโครงสร้างแบบสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม และทรงกลม กระจายทุกพื้นที่ของการเก็บตัวอย่าง ถึงแม้จะว่าสภาพภูมิภาค สภาพภูมิอากาศ และพื้นที่ของการเลี้ยงไหม ต่างกัน

การค้นพบจีโนมของ BmNPV สายพันธุ์ประเทศไทย ด้วยเทคนิค Next Generation Sequencing ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการหาลำดับเบสของสิ่งมีชีวิตที่ทันสมัย มีความรวดเร็ว แม่นยำ ซึ่งได้รับความร่วมมือกับนักวิจัยจากสถาบัน Institute for Biological Control, JKI ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีให้ความอนุเคราะห์อ่านและวิเคราะห์ผลการศึกษาจีโนมของ BmNPV  ทำให้ให้ทราบจีโนมของไวรัส BmNPV สายพันธุ์ประเทศไทย มีขนาดจีโนมทั้งหมด 125,740 คู่เบส และ BmNPV สายพันธุ์ประเทศไทยมีความใกล้ชิดกับ BmNPV สายพันธุ์อินเดีย เนื่องจากหนอนไหมที่เลี้ยงจัดเป็นไหมประเภทเดียวกัน ซึ่งต่างจากพันธุ์ไหมที่พบในประเทศจีน


ข้อมูลด้านสัณฐานวิทยา และการค้นพบจีโนมของ BmNPV ในครั้งนี้ นับว่าเป็นการได้รับองค์ความรู้พื้นฐานเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการศึกษา BmNPV จากทั่วทุกพื้นที่ ที่มีการเลี้ยงไหมในประเทศไทย ซึ่งเป็นการรายงานในครั้งแรก และจะนำไปสู่การต่อยอดศึกษาหาความสัมพันธ์การเกิดโรค ทราบยีนที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง การถ่ายทอดโรค และจีโนมของ BmNPV เพื่อนำไปสู่การป้องกัน กำจัดโรค รวมถึงการพัฒนาวิธีการตรวจโรคเต้อ ได้อย่างมีประสิทธิภาพนำไปใช้ในระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงไหมต่อไป