แหล่งท่องเที่ยวภายในจังหวัด 1) พระธาตุนาดูน (อ.นาดูน) “พระธาตุนาดูน” พุทธมณฑลแห่งอีสาน ตั้งอยู่ที่บ้านนาดูน เขตอำเภอนาดูน ก่อนสร้างเป็นวัด พื้นที่ดังกล่าวได้ขุดพบซากโบราณสถานและโบราณวัตถุที่เชื่อกันว่าเป็นที่ตั้งของนครจำปาศรี พร้อมทั้งยังขุดพบสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุบรรจุในตลับทองคำ เงิน และสำริด มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 13-15 สมัยทวาราวดี รัฐบาลจึงได้ดำเนินการก่อสร้างพระธาตุนาดูนขึ้นมา ตัววัดมีความสวยงามสร้างตามสถูปโบราณที่ค้นพบ โดยเสริมตัวฐานในแบบทวาราวดี เป็นวัดที่เป็นศูนย์รวมความศรัทธาของชาวมหาสารคามและจังหวัดใกล้เคียง
2) แก่งเลิงจาน (อ.เมืองมหาสารคาม) ตั้งอยู่ทิศตะวันตกของตัวเมือง ตั้งอยู่ในเขตตำบลแก่งเลิงจาน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม มีสวนสุขภาพแก่งเลิงจานที่กว้าง โล่ง ต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น เหมาะแก่การพักผ่อนและการออกกำลังกาย มีอ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจานเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ รอบ ๆ เขื่อนคันดินมีการปลูกต้นไม้ และจัดเป็นสวนสุขภาพตลอดคันความยาวของคันดิน สร้างพิพิธภัณฑ์ ศาลากลางน้ำ ภายในเป็นที่ตั้งของสถานีประมง ทำการเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดให้หลายจังหวัดในภาคอีสาน เพื่อให้ผู้ที่ผ่านไปผ่านมาและนักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมและทัศนศึกษาได้
3) สะพานไม้แกดำ (อ.แกดำ) สะพานไม้แกดำ ตั้งอยู่ที่วัดดาวดึง อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม เป็นสะพานไม้เก่า อายุราวกว่า 100 ปี ที่ชาวบ้านใช้เป็นเส้นทางข้ามอ่างเก็บน้ำหนองแกดำ โดยเชื่อมระหว่างบ้านหัวขัวกับหมู่บ้านแกดำ แต่ก่อนสะพานไม้นี่ทรุดโทรมาก ชาวอำเภอแกดำพร้อมด้วยกำลังทหาร ช่วยกันซ่อมแซมสะพานไม้ โดยหวังให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา รวมถึงพัฒนาสะพานไม้เก่าแก่แห่งนี้ ให้เป็นสถานที่ถ่ายภาพและเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดมหาสารคาม
4) พระพุทธมงคล และพระพุทธมิ่งเมือง กันทรวิชัย เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดีสร้างขึ้นด้วยหินทรายแดง เหมือนพระพุทธรูปมิ่งเมือง พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้สร้างขึ้นในเวลาเดียวกันคือ เมื่ออำเภอกันทรวิชัยฝนแล้ง ผู้ชายสร้างพระพุทธรูปมิ่งเมือง ผู้หญิงสร้างพระพุทธรูปยืนมงคล เสร็จพร้อมกันแล้วทำการฉลองยางมโหฬาร ปรากฏว่าตั้งแต่ได้สร้างพระพุทธรูปทั้งสองค์แล้วฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่ท้องที่นี้เป็นอันมากพระพุทธรูปยืนมงคล พระพุทธรูปยืนมงคลตั้งอยู่ที่ วัดพุทธมงคล ตำบลคันธารราษฎร์ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคามห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๔ กิโลเมตร